Yui Jantanarak
Managing Director
แนวคิดห้องเรียนกลับหัว หรือ Flip Classroom กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น จากแต่ก่อนที่ผู้เรียนต้องฟังเลกเชอร์ในห้องเรียน แล้วกลับไปทำการบ้านที่บ้าน ปรับเปลี่ยนมาเป็น นั่งเรียนออนไลน์ที่บ้านแบบ Self-Paced แล้วมาทำการบ้านหรือทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆในห้องเรียนแทน โดยมีคุณครูทำหน้าที่เป็น Facilitator
ปัจจุบันความรู้เปลี่ยนแปลงไวมาก ความรู้ที่เรียนปีที่แล้วมากถึง 30% ก็อาจใช้ไม่ได้แล้วในปีนี้ ผู้เรียนจึงต้องตั้ง Learning Objective เสมอว่าปีนี้ต้องพัฒนาสกิลอะไรบ้าง แล้ววางแผนการเรียนผ่านบทเรียนสั้น (micro-learning) ที่จะทำให้เข้าถึงความรู้ได้ง่ายไว แทนที่จะต้องเรียนทุกอย่างในหลักสูตร ก็สามารถเลือกเฉพาะหัวข้อที่สนใจที่ต้องใช้ในการทำงานจริงได้ จุดนี้จะกดดันให้สถาบันการศึกษา ต้องปรับโครงสร้างหลักสูตรให้เป็นหน่วยย่อยมากขึ้น การเรียนปริญญาตรีอาจไม่จำเป็นต้องเรียน 3-4 ปีอีกต่อไป เมื่อผู้เรียนอยากเรียนรายวิชาไหน ก็เลือกเรียนสะสมเป็นเครดิตจากหลายที่ หลายผู้สอนได้
จากความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว กดดันให้ภาคธุรกิจต้องสร้างหลักสูตรขึ้นเอง อาจเป็นรูปแบบการสร้างสถาบันของตัวเอง หรือร่วมมือกับ EdTech / มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างหลักสูตรทักษะใหม่ที่นำไปใช้ทำงานได้จริง จบหลักสูตรหรือผ่านการประเมินก็สามารถฝึกงาน หรือสมัครงานในตำแหน่งนั้น ๆ ได้ทันที การเรียนนี้ไม่ได้จำกัดแค่นิสิต นักศึกษา แต่คนทั่วไปที่ต้องการเปลี่ยนสายงาน ก็สามารถเรียนได้ โดยเฉพาะหัวข้อใหม่ ๆ อย่าง Data Science, DeFi, IoT, Metaverse
มหาวิทยาลัยจะต้องเปลี่ยนบทบาทเพื่อรับกับสังคมยุคใหม่ โดยเทคโนโลยีเข้ามาทำให้มหาวิทยาลัยไม่ถูกจำกัดด้วยจำนวนที่นั่งอีกต่อไป จึงสามารถเปิดกว้างให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ ผ่านออนไลน์คลาส ทะลายโจทย์ทั้งเรื่องจำนวนที่นั่ง, การคัดเลือกนักศึกษา เข้าสู่การแข่งขันในการนำความรู้จากมหาวิทยาลัยให้เข้าถึงคนทั่วไปมากที่สุด พร้อมผันตัวเองเป็น Open Integration Platform ที่เปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมในหลายรูปแบบ ร่วมกับหลายพาร์ทเนอร์ที่ทำงานร่วมกันแบบ agile พร้อมทะลาย Silo หรือกำแพงระหว่างหน่วยงานภายใน (คณะ) สู่การเรียนรู้ร่วมกันแบบบูรณาการ เช่น โครงการ 88 Sandbox ของ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับภาคธุรกิจ สร้างพื้นที่บ่มเพาะสตาร์ทอัพ ที่ไม่สนว่าต้องอยู่ภายใต้คณะใด แต่เปิดให้ทุกคณะ ทุกมหาวิทยาลัย ทุกระดับชั้น มาทำงานและเรียนรู้ร่วมกัน มีการเปิดให้นักเรียนระดับมัธยม ใช้โปรเจ็กต์สตาร์ทอัพมาสมัครเข้าเรียนที่ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ หรือ นศ. ที่อื่น ก็สามารถนำโปรเจ็กต์มาเทียบโอนเป็นหน่วยกิตที่ธรรมศาสตร์ได้
ถึงแม้การศึกษาหรือวิชาการต่าง ๆ ดูเป็นเรื่องที่จริงจัง แต่ผู้เรียนก็ยังต้องการการเรียนที่ให้ความบันเทิงหรือความสนุกสนาน (Edutainment) อยู่เช่นกัน เพราะช่วยจุดประกายความอยากเรียนรู้ ส่งผลให้ Engagement และ Completion Rate ของการเรียนสูงขึ้น ซึ่งการออกแบบ Online Class ให้สนุกนั้น เทคนิคของผู้สอนสำคัญมาก อย่าง ครูดิว ครูภาษาอังกฤษจากแพลตฟอร์ม OpenDurian ที่มีผู้ติดตามหลักล้านและกลายเป็น influencer ระดับประเทศ นอกจากเทคนิคการสอนแล้ว ทางทีมยังคอยมอนิเตอร์ วิเคราะห์พฤติกรรมผู้เรียนไปพร้อมกับการเก็บ insight, data เพื่อพัฒนาคลาสให้สนุกขึ้นด้วย
การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มความบันเทิงให้กับการเรียน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เช่น Globish ก็นำการเรียนภาษาด้วยการมี Avatar ตัวการ์ตูนท่องเที่ยวในโลกเสมือน Metaverse หรือการเรียนรู้จากคลิบสนุก ๆ ใน TikTok อย่าง TikTokUni
ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาทางเลือก เป้าหมายของผู้เรียนปัจจุบันไม่ได้เรียนเพื่อสอบเท่านั้น แต่เน้นการนำไปใช้สื่อสารได้จริงในการทำงาน ท่องเที่ยว และการจ้างงานออนไลน์ข้ามประเทศ อนาคตไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็มีโอกาสรับรายได้ที่สูงขึ้นจากบริษัทต่างชาติ จากเทรนด์ Work from Anywhere โดยมีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการช่วยยืนยันตัวตน ตรวจสอบประวัติการศึกษา วัดระดับภาษา ความสามารถ และรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
สมัยก่อน EdTech เริ่มจากการสร้าง 1 killing feature จนต่อมาเติบโตพัฒนาเป็นแพลทฟอร์มเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน จนเมื่อโตถึงระดับหนึ่งและมีเงินทุนมากพอ จะเริ่มทยอยซื้อกิจการ EdTech รายย่อย จนในที่สุดผู้เล่นรายใหญ่จะสามารถให้บริการที่ครอบคลุมทุกส่วนของการเรียนรู้เชื่อมโยงกัน ทั้งคอร์สเรียน, แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลการเรียน, การวัดผล,การสื่อสาร และการรายงานผลการเรียน และมีการร่วมมือกันระหว่างผู้เล่นรายใหญ่กับบริษัทชั้นนำ เพื่อสร้าง solution การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ทักษะการทำงาน ทำให้บางมหาวิทยาลัยอาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก อาจต้องหาทางร่วมมือกันเป็นกลุ่มใหญ่ แต่กลุ่มมหาวิทยาลัยที่ปรับตัวทันก็จะได้เปรียบมาก
การที่ภาคเอกชนทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย หรือทำงานร่วมกับ EdTech แน่นอนว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่รัฐบาลเองควรเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการกระจายโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะความรู้ใหม่ ๆ ในโลกปัจจุบันให้เข้าถึงประชาชน หรือบุคคลทั่วไปให้มากที่สุด หรืออาจในราคาที่เข้าถึงได้ ผ่านการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการ EdTech