ทำไมองค์กรไม่สามารถสร้างนวัตกรรมได้?
“ทำไมองค์กรดันนวัตกรรมไม่ออก?” สำรวจสาเหตุและแก้ข้อสงสัย พร้อมเผยโมเดลพฤติกรรมสำหรับการสร้างนวัตกรรมอย่างยั่งยืน
ในยุคที่เต็มไปด้วยความผันผวนและการเปลี่ยนแปลง องค์กรหลายแห่งพยายามผลักดันธุรกิจใหม่หรือสร้างนวัตกรรมภายในองค์กร – Disrupt มักได้รับคำถามจากองค์กรที่ปรึกษาเรื่องการสร้างนวัตกรรม ซึ่งหนึ่งในคำถามที่พบบ่อยคือ
“ทำไมองค์กรถึงสร้างนวัตกรรมไม่สำเร็จ?”
คำตอบสำหรับคำถามนี้ไม่มีแบบแผนตายตัว เพราะการที่องค์กรไม่สามารถสร้างนวัตกรรมได้ มักเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างทางทักษะ การสื่อสาร หรือโครงสร้างขององค์กร
จากบทความที่ตีพิมพ์ใน Harvard Business Review เรื่อง “4 Things Your Innovation Efforts Shouldn’t Focus On” ได้ชี้ให้เห็นถึง 4 สิ่งที่องค์กรควร ‘หยุดหมกมุ่น’ หากต้องการผลักดันนวัตกรรมให้สำเร็จ
4 สิ่งที่องค์กรควร ‘หยุดหมกมุ่น’ หากต้องการผลักดันนวัตกรรมให้สำเร็จ
- หยุดหมกมุ่นกับการลดต้นทุนมากจนเกินไป 📉
ผู้บริหารจากหลายองค์กรมักมุ่งเน้นไปที่การ ‘ลดต้นทุน’ มากกว่า ‘การสร้างรายได้’ เพราะการลดต้นทุนเป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วในการรักษาสุขภาพการเงินขององค์กร แต่ผู้เขียนเตือนว่าการ ‘ลดต้นทุน’ นั้นเปรียบเสมือน ‘การลดอาหาร’ สำหรับร่างกาย การลดอาหารในช่วงแรกอาจทำให้น้ำหนักลดลงและดูเหมือนสุขภาพดี แต่หากอดอาหารนานเกินไป ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว
ดังนั้น ผู้บริหารต้องตระหนักให้ชัดเจนว่าทิศทางขององค์กรควรเป็น ‘การลดต้นทุน’ หรือ ‘การสร้างนวัตกรรมใหม่’ เพราะแม้การสร้างนวัตกรรมอาจช่วยลดต้นทุนได้ในบางกรณี แต่นวัตกรรมก็ต้องการการลงทุน ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรและงบประมาณที่อาจขัดกับนโยบายการลดต้นทุนขององค์กร
- หยุดหมกมุ่นกับเสียงของลูกค้ามากจนเกินไป 🗣️
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ‘เสียงของลูกค้า’ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อองค์กร โดยเฉพาะในยุคของ Digital Disruption ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว องค์กรจำเป็นที่จะต้องฟังและเข้าใจความต้องการของลูกค้าเพื่อสร้่างสินค้าและบริการที่ตรงโจทย์ของลูกค้ามากที่สุด
“แต่ถ้าเสียงของลูกค้า…กลายเป็นอุปสรรคในการสร้างนวัตกรรมขององค์กรล่ะ?”
ผู้นำจึงมีบทบทในการหาสมดุลระหว่าง ‘เสียงของลูกค้า’ และ ‘นวัตกรรมขององค์กร’ ผู้นำต้องรับฟังและตระหนักถึงเสียงของลูกค้า แต่ไม่ควรปล่อยให้สิ่งนั้นเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนนวัตกรรม เพราะบ่อยครั้งที่ลูกค้าอาจไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร ดังนั้นเป็นหน้าที่ของผู้นำและองค์กรที่จะต้องเข้าใจและล่วงรู้ถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า
“It's really hard to design products by focus groups. A lot of times, people don't know what they want until you show it to them. (การออกแบบผลิตภัณฑ์โดยกลุ่มเป้าหมายนั้นยากมาก เพราะหลายครั้งผู้คนไม่รู้ว่าพวกเขาต้องการอะไรจนกว่าคุณจะแสดงให้พวกเขาเห็น) – Steve Jobs, Former CEO of Apple”
- หยุดหมกมุ่นกับโปรเจกต์เล็ก ๆ และตลาดเดิม ๆ 🤏
เมื่อพูดถึงการลงทุนในนวัตกรรม องค์กรมักเน้นไปที่การ ‘พัฒนาหรือปรับปรุงกระบวนการเดิม’ หรือ ‘การสร้างนวัตกรรมในตลาดเดิม’ โดยทำไปทีละน้อย นวัตกรรมเหล่านี้เรียกว่า Incremental Innovation ซึ่งมีข้อดีในระยะสั้นเพราะสามารถคาดหวังผลตอบแทนได้และมีความเสี่ยงน้อย
แต่ถ้าหากเป้าหมายขององค์กรคือ ‘การเติบโตอย่างก้าวกระโดด’ หรือ ‘การทำ transformation’ การสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ฉีกกฎเกณฑ์เดิมถือเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนวัตกรรมในตลาดใหม่ (Adjacent Technology) หรือการสร้างนวัตกรรมใหม่พร้อมเทคโนโลยีใหม่ (Radical Innovation)
- หยุดหมกมุ่นในการ ‘ลงทุน’ ในคนอื่น 🏛️
การสร้างนวัตกรรมในองค์กรสามารถทำได้สองวิธีหลัก ๆ คือ 1) การสร้างนวัตกรรมภายในองค์กร และ 2) การสร้างนวัตกรรมจากภายนอก เช่น การซื้อหรือลงทุนในสตาร์ทอัป ผู้เขียนบทความสังเกตว่า องค์กรที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมจากภายนอกมากเกินไป มักจะประสบความท้าทายในการสร้างนวัตกรรมภายใน หรือไม่สามารถผลักดันนวัตกรรมภายในองค์กรได้
กรณีศึกษา: กลยุทธ์นวัตกรรมของ Apple 🍎
- Steve Jobs: Jobs เน้นการลงทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ภายใต้การนำของเขา Apple เต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่ฉีกกฎเกณฑ์ของตลาด
- Tim Cook: ในทางตรงกันข้าม Cook มุ่งเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัปที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับ Ecosystem ของ Apple ในปี 2023 Apple ได้เข้าซื้อธุรกิจสตาร์ทอัปถึง 32 ราย
แล้วทำอย่างไรถึงจะสร้างนวัตกรรมภายในองค์กรได้
จากหนังสือชื่อดัง “Innovation as Usual” โดย Paddy Miller และ Thomas Wedell-Wedellsborg ได้กล่าวถึงแนวทางในการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมสำหรับองค์กรที่ไม่ได้มีนวัตกรรมเป็นภารกิจหลัก
“หลายองค์กรมักจะพาคนไปติดเกาะแห่งนวัตกรรม” หมายถึงการที่องค์กรชอบจัดอีเวนต์ต่าง ๆ เช่น Ideation Space หรือ Hackathon ที่ได้ไอเดียเจ๋ง ๆ มากมาย แต่หลังจบงาน ไอเดียเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ที่อีเวนต์ ไม่มีการต่อยอด การสร้างนวัตกรรมไม่ใช่แค่การจัดอีเวนต์ 2 วันที่ดีที่สุด แต่คือการหาวิธีที่จะทำให้พนักงานสามารถผลักดันนวัตกรรมได้ตลอดทั้งปีในทุก ๆ วัน
โดย Framework ดังกล่าวคือโมเดล 5+1 พฤติกรรมหลักในการผลักดันนวัตกรรม ซึ่งประกอบด้วย
- Focus 🎯
มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับนวัตกรรมที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กร หลายองค์กรเปิดกว้างเกินไป จนไม่สามารถตัดสินใจได้ว่านวัตกรรมไหนดีหรือไม่ดี ทำให้พลาดไอเดียดี ๆ ไป และบั่นทอนกำลังใจของผู้เสนอไอเดีย ยิ่งโจทย์ในการสร้างนวัตกรรมชัดเจนมากเท่าไหร่ (เวลา ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ความเสี่ยงที่องค์กรยอมรับได้) ก็ยิ่งดีเท่านั้น
- Connect 🤝
ยิ่งมีความรู้หลากหลาย นวัตกรรมที่ได้ยิ่งตอบโจทย์ การเชื่อมโยงผู้คนและความรู้ที่หลากหลายช่วยสร้างนวัตกรรมที่แข็งแกร่ง เช่น ทีมพัฒนาอาจออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ดี แต่ขาดความรู้ด้าน Business Model การเชื่อมต่อกับทีมพัฒนาธุรกิจหรือการเงินจะช่วยเสริมจุดแข็งนี้
- Tweak 🫣
การหลงรักในไอเดียมักเป็นอุปสรรคต่อการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ การทดสอบไอเดียอย่างสม่ำเสมอกับกลุ่มคนที่หลากหลายและรับฟีดแบ็กคือวิธีที่ดีที่สุดในการปรับปรุงไอเดีย องค์กรสามารถใช้แนวทาง Agile ร่วมกับการสร้างนวัตกรรมได้
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการทำงานแบบ Agile
- Select ⛏️
หลังจากทดสอบไอเดีย ทีมผู้นำจะต้องตัดสินใจว่าจะลงทุนในนวัตกรรมนั้นหรือไม่ โดยผู้ตัดสินใจควรมีความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ที่หลากหลาย และเกณฑ์การตัดสินใจควรชัดเจนและตรวจสอบได้เสมอ
- Stealthstorm 🧑💻
Stealthstorm หมายถึงการโน้มน้าวให้ผู้บริหารเห็นถึงคุณค่าของนวัตกรรม ดึงดูดให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วม หรือทำให้พวกเขา ‘ซื้อ’ แนวคิดการสร้างและผลักดันนวัตกรรมในองค์กร
และในส่วนของ +1 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างนวัตกรรมคือ Persist 💪
ความพากเพียรคือหัวใจหลักของการสร้างนวัตกรรม ในองค์กรที่ไม่อนุญาตให้พนักงานเผชิญหน้ากับความล้มเหลว พนักงานมักจะหมดใจกับการสร้างนวัตกรรมเมื่อไม่ประสบความสำเร็จ การลงมือทำอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญพอ ๆ กับกระบวนการ
เพื่อสร้างความพากเพียรและความต่อเนื่อง ผู้นำสามารถกระตุ้นผ่านแรงจูงใจทั้งภายใน (เช่น ความอยาก ความชอบ การยอมรับ) และภายนอก (เช่น เงินเดือน โบนัส การเลื่อนขั้น) การสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืนต้องมาจาก ‘ความอยาก’ ที่จะสร้างและพัฒนาอยู่เสมอ
สรุป
การสร้างนวัตกรรมต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผู้บริหารต้องเข้าใจและตัดสินใจลงทุนในนวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ระยะยาว พร้อมปลูกฝัง mindset และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้คนในองค์กรพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: