Yui Jantanarak
Managing Director
เรียกว่าผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติ COVID19 นี้ เกิดในวงกว้างและหนักหนาพอสมควร และเรายังไม่มีทางรู้ว่าจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน จนกว่าอย่างน้อยจะมีผู้คิดค้นวัคซีน อาจใช้เวลา 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราจะร่วมกันสร้างค่านิยมแห่งการแก้ปัญหา "เมื่อวิกฤตคือสิ่งที่ต้องเจอ" เรียกว่าเป็น New Normal เพราะ วิกฤตคือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน จึงต้องมีสติ ไม่ประมาท มีแผนสำรองและพร้อมที่จะเป็นนักแก้ปัญหา
หลังจากนี้พฤติกรรมความคิดและความต้องการของตลาดอาจจะเปลี่ยนแปลงไป อย่าคิดว่าจบวิกฤต COVID แล้วทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม พึงระลึกเสมอว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นล้วนสร้างบทเรียนและบาดแผลให้กับทุกคน เสมือนติดอาวุธและสร้างภูมิต้านทานให้ชีวิต
เจ้าของธุรกิจหลายเจ้า เช่น เจ้าของโรงงานที่เคยจ้างคนทำงานเป็นจำนวนมาก หลังจากนี้อาจมองหาเครื่องจักรมากกว่าแรงงานมนุษย์ เพราะในวันที่เกิดวิกฤต ก็แค่กดสวิตซ์ปิดเครื่อง ไม่ต้องคอยกลัวโรคระบาดที่หากติด 1 คนก็กระทบผู้ร่วมงานอื่นไปด้วย ไม่ต้องเครียดเรื่องการบริหารจัดการคน จะให้ใครออก/จะให้ใคร Leave with out Pay องค์กรเอกชนขนาดใหญ่หรือบริษัทสตาร์ทอัพเองหลังจากนี้จะหันมาปรับองค์กรให้ Lean ขึ้นและใช้ศักยภาพคนที่มีให้มากที่สุด หรือแม้แต่ธุรกิจบริการที่เคยใช้แรงงานคนเป็นหลักอย่างธุรกิจโรงแรมหรือร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบโดยตรง หลังจากนี้ผู้ประกอบการก็อาจพิจารณาลดจำนวนพนักงานประจำลง เน้นพนักงานชั่วคราว (Casual) แล้วพึ่งพาเทคโนโลยี หรือ Self Service มากขึ้น
ซึ่งวิกฤตโคโร่น่านี้ อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ดังนั้น Startup ต้องมองระยะไกล มองภาพใหญ่ และมองให้เห็นผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ ควรวางแผนหลายๆ แผน มีการกระจายความเสี่ยง และหาโอกาสใหม่ ๆ ให้ธุรกิจอยู่เสมอ
ใครที่อยู่ในช่วงการระดมทุนหรือมีแผนการระดมทุนใน Pipeline อาจจะต้องเตรียมใจไว้ว่า ระยะเวลาที่ใช้จะนานกว่าเดิม 2 เท่า และต่อให้คุณเซนต์เอกสารอะไรไปเรียบร้อยแล้ว พึงระลึกเสมอว่า การระดมทุนจะไม่จบจนกว่าเงินจะเข้าบัญชี คุณต้องเตรียมรันเวย์ให้ยาวเพียงพอจนกว่าเงินจะเข้า
และไม่ใช่แค่ Startup ที่กำลังเจอปัญหา นักลงทุนเองก็กำลังประสบปัญหาเช่นกัน เมื่อตลาดหุ้นตกหนัก ก็เป็นเหตุผลให้บรรดานักลงทุนสถาบันหันกลับมาถือสินทรัพย์ปลอดภัย เก็บเงินสด และลดการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง อย่างกองทุน Venture Capital (VC) และสตาร์ทอัพ ที่เรียกว่าเสี่ยงกว่าหุ้นเสียอีก
ดังนั้นเมื่อตลาดหุ้นตกหนัก การ Exit ก็จะยากขึ้นไปด้วย จะมาหวังเร่ง Growth แล้ว Exit ไว ๆ คงเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว เมื่อยูนิคอร์นหลาย ๆ ตัวที่จ่อรอเข้าตลาด ก็ยังต้องถูกดีเลย์ออกไปอีก ดังนั้นสตาร์ทอัพเอง อาจต้องอึดในระยะยาวแบบไม่รู้จบ และการ Raise Fund ไม่ใช่คำตอบของ Startup ในช่วงเวลาแบบนี้ คุณต้องมองหาแหล่งทุนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่ VCs รวมถึงต้องหารายได้เพิ่มจากหลาย ๆ ช่องทาง และต้องปรับ Mindset ใหม่ เมื่อสตาร์ทอัพจะไม่ใช่ Growth อีกต่อไป แต่สตาร์ทอัพ คือ ประสิทธิภาพและความยั่งยืน (Efficiency & Sustainability) รวมถึงต้องมานั่งคิดว่า จุดอ่อนของ Business Model ที่ผ่านมาของเราคืออะไร และเราจะแก้ไขมันอย่างไร
สตาร์ทอัพแมลงสาบ คือ Startup ที่อยู่รอดได้ในทุกช่วงวิกฤต ซึ่งอาจมีการ Pivot ไปทำโมเดลธุรกิจที่มีรายได้ใหม่ชั่วคราว หรือลด/เลื่อนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป แต่สุดท้าย Startup แมลงสาบนี้จะอยู่รอดต่อไปได้ทุกสถานการณ์ คุณอาจจะเห็นยุคดอทคอมยุคแรก ที่ทำให้เกิดฮีโร่ และผู้อยู่รอดที่เติบโต ดังนั้นมีแค่สองอย่างในช่วงเวลานี้คือ “เอาตัวรอด” และ ”ต้องรอด” อะไรพอทำได้ให้รีบทำ ไม่ต้องเขิลอาย ซึ่งอาจทำให้คุณได้ไอเดียใหม่ ๆ ยกตัวอย่างเช่น Freshket สตาร์ทอัพส่งอาหารหารสดออนไลน์ให้ร้านอาหารก็ปรับโมเดลมาส่งอาหารสดให้ถึงมือลูกค้าทั่วไป หรือ EventBanana ที่ปรับโมเดลจากการเป็นนายหน้าหาสถานที่จัด EVENT ก็แปลงตัวเองมาเป็นแพลตฟอร์มส่งอาหารแบบกลุ่มสำหรับคนทำงาน หรืออย่างแบรนด์ GQ ที่ปกติขายเสื้อผ้า ก็มาขาย GQWhite Mask ที่ต่างจากมาส์ผ้าทั่วไปคือ คุณสมบัติสะท้อนน้ำและลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ซึ่งก็สร้างยอดขายถล่มทลายเลยทีเดียว หรือแม้แต่แคมเปญ Marketing เจ๋ง ๆ สร้าง Awereness สู้โคโรน่า อย่างแบรนด์ Sabina ในแคมเปญ #StayHomeStillDoomm - ตัวห่างแต่นมท่านจะไม่ห่างออกจากกัน ที่กำลังเป็นไวรัลอยู่ในขณะนี้ เป็นต้น
การมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในช่วงนี้ที่คนต้องอยู่บ้าน Work from Home มีอะไรที่จะทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้นได้บ้าง เช่น ขาย ไมโครโฟนคุณภาพเยี่ยม สำหรับต่อเข้าคอมพิวเตอร์ เพื่อผู้บริหารที่ฟังเสียงไม่รู้เรื่องตอนประชุมออนไลน์ หรือจะเอาไว้อัด Podcast/Youtuber ก็ได้ นี่เป็นอีกความท้าทายที่น่าสนใจ ซึ่งหากอดทนเอาตัวรอดจากช่วงนี้ไปได้ จะเป็นการแสดงให้ลูกค้าและพาร์ทเนอร์รวมถึงนักลงทุนเห็นด้วยว่า คุณปรับตัวหรือเอาตัวรอดผ่านวิกฤตมาด้วยวิธีการที่เจ๋งและครีเอทีฟแค่ไหน
โดยมากสถานการณ์แบบนี้บรรดาผู้ประกอบการต่างก็นึกถึงการลดค่าใช้จ่ายด้วยการ เลิกจ้าง/ลดเงินเดือน หรือ พักงานพนักงาน ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ต้องตัดสินใจอย่างระมัดระวัง ความกังวลใจเรื่องกฏหมายจ้างงาน หรือกลัวถูกพนักงานฟ้อง อาจไม่สำคัญเท่ากับการพูดคุยหรือเห็นอกเห็นใจกันในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ “การสื่อสาร” คือสิ่งที่สำคัญที่สุด การพูดคุยตกลงกันอย่างเปิดอกและจริงใจ หาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน ซึ่งช่วงเวลานี้จะเป็นโอกาสที่ Talent ที่เป็น High Performance ของบริษัทก็จะยังสามารถ Add value แสดงความสามารถที่จะช่วยบริษัทให้อยู่รอดได้ ซึ่ง Talent แบบนี้คือ Talent ที่ยังควรรักษาไว้
และเมื่อทีมได้ผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน หากมองย้อนกลับมา พนักงานจะรู้ว่า ยามลำบากผู้นำให้ความสำคัญกับทีมงานมากแค่ไหน ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการสร้าง long-term loyalty สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสของผู้นำที่จะแสดงให้ทุกคนในทีมเห็นว่าคุณเป็นผู้นำที่เป็น Leader Eat Last เสียสละเพื่อส่วนรวม หรือ คุณจะใช้วิธีการอย่างไรในการแก้ปัญหา ในขณะเดียวกันผู้นำเองก็จะได้เห็นน้ำใจยามลำบาก ใครที่ยังเชื่อมั่นใน Vision ของบริษัท เข้าใจสถานการณ์ ใครที่ยังร่วมสู้กับเราและลำบากไปด้วยกัน ช่วยให้เรียนรู้และรู้จักตัวตนของกันและกันมากขึ้น
สถานการณ์แบบนี้เป็นเรื่องยากมาก ๆ ในการที่จะหาลูกค้ารายใหม่ ดังนั้นจงรักษาลูกค้าหรือพาร์ทเนอร์ดี ๆ ที่อยู่ในมือไว้ ดังคำกล่าวที่ว่า “คนเราจะเห็นใจกันก็ในช่วงเวลาที่กำลังลำบาก” ในช่วงนี้ หากเป็นไปได้เราอาจทักทาย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกับ ลูกค้า Partner ที่เคยร่วมงานกัน แสดงน้ำใจความเป็นห่วงเป็นใย หรือเสนอน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แม้จะไม่เกี่ยวกับงานหรือธุรกิจ เช่น ฝากเจลแอลกอฮอลไปให้, ช่วยลูกค้าโปรโมทงานหรือธุรกิจส่วนตัว หรือแม้แต่ช่วยเหลือเล็กๆ น้อย ๆ เป็นอะไรที่น่าจดจำกว่าการส่งกระเช้าปีใหม่ที่ใคร ๆ ก็ส่งเหมือนๆ กัน ซึ่งเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว ลูกค้าหรือ Partner เหล่านั้นย่อมนึกถึงเรา
สถานการณ์ตอนนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า เบสิคพื้นฐานของการทำธุรกิจ อย่างการรักษากระแสเงินสดคือสิ่งสำคัญที่สุด (Cash is King) ไม่ว่าจะมีวิกฤตเหรือไม่ ก็ควรมีเงินสดสำรองอยู่เสมอ โดยเฉพาะการบริหารจัดการ"ความเสี่ยง" ตั้งแต่ "ยังไม่เสี่ยง" มีสติเพื่อตัดสินใจแก้ปัญหา บางครั้งอาจจะไม่ดีที่สุด แต่ต้องเร็วพอกับสถานการณ์เฉพาะหน้า
ที่ผ่านมาเราอาจจะยุ่งไม่มีเวลา วุ่นวายกับ operation การเร่งโตหรือเร่งตัวเลข แต่เมื่อเราได้หยุด ก็เป็นช่วงสำคัญที่จะได้กลับมาโฟกัสและเรียงลำดับความสำคัญใหม่ เมื่อเงินสดลดลงเรื่อย ๆ จะบริหารสภาพคล่องอย่างไร ในช่วงนี้คงต้องมาพิจารณาว่า Burn Rate ต่อเดือน เราสามารถอยู่แบบไม่มีรายได้ไปได้อีกกี่เดือน 3 เดือน หรือ 6 เดือน มีแผนสำรองหรือไม้ตายอะไรอีกที่จะงัดออกมา ตัดสินใจว่าทีมจะอยู่แบบหมีจำศีลฤดูหนาวนิ่งอยู่กับที่โดยใช้แค่พลังงานที่สะสมไว้ หรือจะเสี่ยงฝ่าพายุหิมะออกไปหาอาหาร และอะไรคือจุดแข็งหรือจุดอ่อนของบริษัทของเรา และอาจเป็นช่วงเวลาที่เราจะมานั่งเคลียร์บัญชีหรือเอกสารหรือระบบต่าง ๆ ที่ยุ่งเหยิงให้กลับมาเป็นระบบเพื่อพร้อมรบกับวิกฤติอีกครั้ง
สุดท้ายนี้ อยากให้นึกว่า มีคนที่ลำบากกว่าเรากระทบหนักกว่าเราเสมอ ยังมีคนอีกมากที่ไม่มีแม้เงินจะซื้อข้าวทานในแต่ละวัน หรือแม้แต่ทีมแพทย์พยาบาลที่ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยในช่วงเวลานี้ แต่ในทุกการผ่านพ้นวิกฤต มักจะเกิดฮีโร่ เหมือนกับยุคดอทคอมและฟองสบู่แตกที่เคยผ่านมา
ส่วนสตาร์ทอัพทีมไหนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน สามารถกรอกฟอร์มนี้ Disrupt and 500 TukTuks: Surviving the Covid-19 outbreak together เข้ามาได้ ส่วน Startup ไหนที่ยังพอไหว และมีไอเดียดีๆ ที่คิดว่าจะมีส่วนช่วยให้ประเทศของเราก้าวข้ามวิกฤต COVID นี้ไปด้วยกัน ก็สามารถมาพูดคุย Brainstorm ร่วมกันได้ หรืออยากให้ช่วยโปรโมทอะไรแจ้งมาได้เลย ทาง Disrupt เองยังมีแรงมีคอนเนคชั่นและยังมีกำลัง หากเราสามารถร่วมมือกันหลายๆ ทีม หลายๆ ภาคส่วน ก็น่าจะช่วยกันแก้ปัญหาฝ่าวิกฤตให้กับประเทศเราได้
ติดตามข่าวสารความรู้ในวงการสตาร์ทอัพได้ทางเพจ Disrupt Technology Ventureและพบกันที่งาน Education Disruption Conference 2020: Reimagine Thailand’s Education 2030, Virtual Conference ที่จะพาทุกคนมาเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของการศึกษาไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น ผ่าน Content สุด exclusive จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมากมาย พร้อมทั้งฟังประสบการณ์ จาก EdTech Startups และ Social Entrepreneurs ที่ประสบความสำเร็จทั้งในไทยและต่างประเทศ ลงทะเบียนได้แล้ววันนี้ ที่นี่