Pat Thitipattakul
Corporate Innovation Manager
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อนำหุ่นยนต์มาเป็นเชฟทำอาหาร?
เทรนด์การนำหุ่นยนต์อัจฉริยะมาใช้กำลังเป็นที่สนใจในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร เพราะเป็นธุรกิจที่มีความท้าทายในเรื่องการควบคุมดูแล ต้องใช้พนักงานบริการจำนวนมาก และต้องมีการตรวจสอบคุณภาพ ความสะอาด การปฏิบัติงาน และการให้บริการลูกค้าให้ได้มาตรฐานอยู่เสมอ
งานในร้านอาหารมีงานบางส่วนที่เป็นงานที่คนมองว่าเหนื่อย ไม่น่าทำ Alex Vardakostas ผู้ก่อตั้ง Creator เข้าใจปัญหานี้ดี เพราะตัวเขาเองก็เติบโตมากับการทำเบอร์เกอร์ในร้านอาหาร พ่อแม่ของเขาทำธุรกิจร้านเบอร์เกอร์ เขาต้องย่างเบอร์เกอร์อยู่หน้าเตาเป็นร้อย ๆ ชิ้นต่อวัน ซึ่งนอกจากจะใช้เวลาทำงานซ้ำซากเยอะแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพด้วย แม่ของ Alex มีปัญหาด้านสุขภาพจากการต้องทำงานหนัก แล้วสูดกลิ่นควันจากเตาวันละหลายชั่วโมง Alex จึงเกิดไอเดีย อยากหาวิธีทำอาหารที่ซ้ำซากโดยใช้เครื่องมือช่วย ผู้คนจะได้ไปใช้เวลาทำงานที่สนุก งานที่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เขาจึงเริ่มสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในตอนที่เขาอายุ 15 ปี
Alex ตัดสินใจเรียนต่อด้านฟิสิกส์ และศึกษาเรื่องการประกอบหุ่นยนต์ ต่อมาเขาได้พบกับ co-founder และร่วมกันทำโปรเจคนี้ให้เป็นจริง พวกเขาใช้เวลาถึง 8 ปีเต็มในการทดสอบและพัฒนาระบบ เขาได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนหลายราย รวมมากถึง 18 ล้านเหรียญ Alphabet Inc. บริษัทแม่ของ Google ก็เป็นหนึ่งในนักลงทุนด้วย การทำอาหารให้รสชาติดี สะอาด ได้มาตรฐานเหมือนกันทุกชิ้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทีมนักพัฒนาจึงต้องใส่ใจในรายละเอียด และพัฒนาระบบที่มีความซับซ้อน
Creator เปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี 2018 โดยการเปิดร้านอาหารสาขาแรกที่เมืองซานฟรานซิสโก หุ่นยนต์แตกต่างจากคู่แข่งเพราะมีระบบปฏิบัติการที่ซับซ้อนกว่ามาก ใช้เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวมากกว่า 350 จุด ใช้คอมพิวเตอร์ 20 เครื่องในการประมวลผล และใช้อุปกรณ์ควบคุมการทำงานกว่า 50 จุด
การทำงานของหุ่นยนต์ครอบคลุมทุกส่วนของการทำเบอร์เกอร์ พอลูกค้าสั่งอาหาร พนักงานจะทำรายการบนโทรศัพท์มือถือเพื่อสั่งงาน หุ่นยนต์จะเริ่มสั่งการหั่นขนมปัง ทาเนย ปิ้งขนมปัง บดเนื้อ ย่างเนื้อ หั่นผัก วางชีส ราดซอส โรยเครื่องปรุงรส ประกอบรวมกัน ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้นในการทำเบอร์เกอร์ 1 ชิ้น โดยลูกค้าสามารถมายืนดูขั้นตอนทั้งหมดได้ จะเห็นได้ว่า วัตถุดิบทุกอย่างทำสดใหม่ตรงนั้นเลย อย่างผักเอง ก็ไม่ได้หั่นมาก่อน หั่นเมื่อจะใช้ ทำให้สดใหม่มาก ขนมปังอบใหม่วันต่อวัน เนื้อวัวเองก็ใช้แบบปลอดสาร ปราศจากฮอร์โมน
ปัจจุบัน ร้านเปิดทำการแค่เพียง 3 วันต่อสัปดาห์เท่านั้นในวันพุธถึงศุกร์ เวลา 11 โมงถึงบ่าย 2 เท่านั้น เนื่องจากว่าในวันเวลาอื่น ทีมนักพัฒนาต้องวิเคราะห์ผลการทำงาน และนำมาปรับปรุงตัวหุ่นยนต์ พัฒนาต่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีความผิดพลาด และพัฒนาต่อยอดเพื่อขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต
เบอร์เกอร์ทุกชนิดขายในราคา $6 หรือประมาณ 180 บาทเท่านั้น ถือว่าราคาไม่แพงเลยเมื่อเทียบกับวัตถุดิบคุณภาพพรีเมียมที่ได้ เทียบกับร้านอาหารอื่น ๆ ที่ขายแพงกว่านี้ เป็นความตั้งใจของทีม Creator ที่ต้องการส่งมอบอาหารคุณภาพดีให้กับลูกค้าทุกคน โดยมองว่าการใช้หุ่นยนต์จะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการร้านในระยะยาว พวกเขาต้องการนำกำไรส่วนนั้นมาลงทุนในเรื่องการใช้วัตถุดิบที่ดี
Creator ได้ร่วมมือกับเชฟชื่อดัง คิดค้นเมนูเบอร์เกอร์แปลกใหม่ เช่น Masala Burger by Chef Arun Gupta, DOSA ซึ่งเป็นการผสมผสานรสเครื่องเทศแบบอินเดีย Tumami Burger by Chef Tu, SF Chronicle Rising Star Chef ซึ่งได้ใช้หอยนางรมเป็นส่วนประกอบด้วย นอกจากนี้ ลูกค้ายังสามารถ customize ได้ เลือกผสมวัตถุดิบตามความชอบ
จากเรื่องราวในวัยเด็กของ Alex เขาเริ่มต้นสร้างหุ่นยนต์ก็เพื่อให้หุ่นยนต์มาช่วยคนทำงานที่มันซ้ำซาก น่าเบื่อ อันตรายต่อสุขภาพ เขามีความเชื่อว่าผู้คนควรที่จะได้ทำงานที่ใช้ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ได้ทำสิ่งที่สนุก ทำในสิ่งที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ เช่น การบริการลูกค้าด้วยความใส่ใจ การทักทายลูกค้าอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง
อย่างในร้านของเขาเอง เขาก็ยืนยันว่ายังไงก็ต้องมีพนักงานบริการ หุ่นยนต์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของทั้งหมดเท่านั้น ไม่ใช่ทุกอย่าง เขามองว่าถ้ามีแค่หุ่นยนต์ แล้ววันหนึ่งคนเลิกตื่นเต้นกันเรื่องหุ่นยนต์ทำอาหาร ก็คงไม่มีใครมาใช้บริการ Creator เป็นประจำ ในทางกลับกัน ถ้า Creator สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า ด้วยอาหารอร่อย ราคาคุ้มค่า เมนูแปลกใหม่ พนักงานใส่ใจดูแล นี่ต่างหากคือสิ่งที่จะทำให้ลูกค้าผูกพันกับแบรนด์ ทางร้านเองก็ใช้หลัก Design Thinking ในการออกแบบประสบการณ์ลูกค้าในร้านอาหาร
ตัวหุ่นยนต์ของ Creator ตั้งใจสร้างให้แตกต่างจากหุ่นยนต์ที่เราคุ้นเคยกัน หุ่นยนต์แบบอื่น ๆ มักสร้างเลียนแบบการเคลื่อนไหวของคน รูปร่างคล้ายคน พูดสื่อสารได้ แต่ของ Creator ดูเป็นเครื่องมือมากกว่า เป็นระบบปฏิบัติการเครื่องจักรเหมือนการผลิตสินค้าในโรงงาน ตอกย้ำแนวคิดของผู้ก่อตั้งว่าหุ่นยนต์ไม่ได้แทนคน แต่เป็นเครื่องมือ ยังคงต้องมีเชฟเหมือนเดิม แต่ให้เชฟคอยสั่งการหุ่นยนต์ แทนที่จะต้องมาเหนื่อยทำเองทั้งหมด
Alex มองว่า การมีหุ่นยนต์ทำให้งานแบบเดิม ๆ หายไปก็จริง แต่ว่าก็มีงานแบบใหม่เกิดขึ้น เช่น งานควบคุมการทำงานหุ่นยนต์ งานบำรุงรักษาหุ่นยนต์ พนักงานหน้าร้านของ Creator ทุกคนจะได้รับการอบรมเรื่องการทำงานของหุ่นยนต์ การซ่อมแซม การตรวจสอบเบื้องต้น พนักงานทุกคนใส่ Apple watch เพื่อรับข้อมูลการทำงานของหุ่นยนต์แบบ real-time นอกจากนี้ Creator ยังมีนโยบายด้านการ reskill โดยให้พนักงานมีเวลาว่าง สามารถใช้เวลางานในการอ่านหนังสือ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ ในหัวข้ออะไรก็ได้ที่สนใจ และสามารถลางานเพื่อไปเรียนเพิ่มเติมได้
ติดตามข่าวสารความรู้ในวงการสตาร์ทอัพได้ทางเพจ Disrupt Technology Ventureและพบกันที่งาน Education Disruption Conference 2020: Reimagine Thailand’s Education 2030, Virtual Conference ที่จะพาทุกคนมาเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของการศึกษาไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น ผ่าน Content สุด exclusive จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมากมาย พร้อมทั้งฟังประสบการณ์ จาก EdTech Startups และ Social Entrepreneurs ที่ประสบความสำเร็จทั้งในไทยและต่างประเทศ ลงทะเบียนได้แล้ววันนี้ ที่นี่