"คน" คือหัวใจ: 8 กลยุทธ์พัฒนา "คน" สู่ความสำเร็จในยุค AI Disruption

การขาดแคลนทั้ง Talent และทักษะที่สำคัญในยุค AI Disruption ก็เป็นสิ่งที่บริษัทต่าง ๆ กำลังประสบอยู่ แล้วต้องทำอย่างไรองค์กรถึงจะดึงพนักงานที่มีทักษะและศักยภาพในการเติบโตเอาไว้ รวมถึงดึงดูด Talent ที่จะสร้างคุณค่าและพัฒนาองค์กรต่อ ๆ ไป?

คำตอบ คือ องค์กรจะต้องลงทุนและให้คุณค่ากับ “คน” อย่างแท้จริง

ปัจจุบัน องค์กรต่างเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะเป็นอย่างมาก และความท้าทายนี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากรายงานของ Manpower บริษัทจัดหางานที่มีสาขากว่า 75 แห่งทั่วโลก พบว่าในไตรมาสแรกของปี 2567 บริษัทกว่า 75% กล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่จะหาแรงงานที่มีทักษะสูง โดยเฉพาะด้าน IT และ Data ที่ขาดแคลนสูงเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยด้านวิศวกรรม (Engineering) การขายและการตลาด (Sales and Marketing) การดำเนินงานและโลจิสติกส์ (Operations and Logistics) และการผลิต (Manufacturing and Production) ตามลำดับ

ทำไมการพัฒนา “คน” จึงสำคัญ

ผลการวิจัยของ McKinsey & Company พบว่าการบ่มเพาะ Growth Mindset นั้นเป็นสิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ Growth Mindset คือแนวคิดที่เชื่อว่าความสามารถของคนเราเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ ดังนั้นคนที่มี Growth Mindset คือคนที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ถือเป็นบุคลากรทรงคุณค่าขององค์กร ซึ่งองค์กรสามารถบ่มเพาะแนวคิดเหล่านี้ผ่านการอบรมและการมอบโอกาสให้แก่พนักงานได้ลองทำงานที่ท้าทาย

ผลการวิจัยชี้ว่าองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ที่จัดอบรมเฉลี่ย 1 วันต่อเดือน และมีการปรับเงินเดือนพนักงาน ส่งผลให้พนักงานลาออกน้อยลง นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบอีกว่าสาเหตุหลักที่พนักงานลาออก คือ ไม่มีความก้าวหน้าและการพัฒนาอาชีพ บทความนี้จึงอยากเสนอ 8 กลยุทธ์ จาก McKinsey & Company ที่สามารถช่วยให้ HR พัฒนาคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

8 กลยุทธ์ในการพัฒนาคน

  1. Onboard ให้มีประสิทธิภาพ

การเตรียมความพร้อมพนักงานใหม่ไม่ใช่เพียงแค่การจัดปฐมนิเทศ แจกโน้ตบุ๊ก หรือบัตรเข้าออฟฟิศ แต่ควรเป็นการเตรียมความพร้อมให้พนักงานในช่วงตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปีแรกในการทำงาน ซึ่งทำได้ผ่านการโค้ช (Coaching) จัดโปรแกรมการฝึกทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ หรือให้โอกาสพนักงานได้ลองพัฒนาทักษะใหม่ ๆ มากขึ้น เนื่องจากค่าเสียโอกาสจากการปล่อยให้พนักงานใหม่หาวิธีการทำงานด้วยตัวเองนั้นมีค่ามหาศาล

ยิ่งไปกว่านั้นพนักงานมักจะลาออกในช่วงแรกที่เริ่มงาน (Probation) อาจกล่าวได้ว่าบริษัทเองก็อยู่ในช่วงทดลองงานเพื่อให้พนักงานเลือกด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นบริษัทเองก็ควรให้ความสำคัญกับการ Onboard พนักงานใหม่มาเป็นลำดับแรก

  1. สนับสนุนให้พนักงานได้เรียนรู้

การส่งเสริมการเรียนรู้ของพนักงาน ไม่ใช่แค่ภาระหน้าที่ของฝ่าย HR แต่เป็นบทบาทสำคัญของ "ผู้นำ" ทุกระดับ ที่ต้องร่วมสร้าง "วัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้" (Learning Culture) ให้เกิดขึ้นภายในองค์กร

Learning Culture คือ วัฒนธรรมของทีมหรือกลุ่มบุคลากรที่ได้รับการปลูกฝังให้ มีความสงสัย (Curiosity) อยากเรียนรู้ และได้รับการสนับสนุนจากผู้นำองค์กร ผู้นำทีม มีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และค่านิยมขององค์กร เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความสามารถที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง และสร้างความสำเร็จให้องค์กรอย่างยั่งยืน

  1. มอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทันเหตุการณ์

การพัฒนาการเรียนรู้ของพนักงานนั้นไม่เพียงจะต้องมีเนื้อหาที่ดี แต่ต้องมีการถ่ายทอดที่ดีด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและตลอดเวลา เพราะพนักงานแต่ละคนอาจมีเวลาที่สะดวกในการเข้าเรียนที่แตกต่างกันไปตามภาระหน้าที่ ควรมีการใช้ทั้งการอบรมออนไลน์และออนไซต์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พนักงาน รวมถึงมีการปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน และเป็นเนื้อหาที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้จริง

  1. เรียนรู้แบบตัวต่อตัว

นอกเหนือจากการทำงานโดยปกติที่จะเพิ่มพูนทักษะต่าง ๆ ให้แก่พนักงานอยู่แล้ว บริษัทควรมีการโค้ช (Coaching) ประกอบไปด้วยเพื่อให้พนักงานได้พัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการโค้ชจะทำหน้าที่เหมือนเป็นกระจกที่คอยสะท้อนความคิด ปรับมุมมอง สร้างแรงจูงใจให้ผู้ที่ถูกโค้ชได้คิด ได้ตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนและชัดเจนขึ้นด้วยตัวเอง นำไปสู่การค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของตัวเอง โดยผู้นำจะต้องมีความรู้และประสบการณ์ รวมถึงควรมีสกิลการล้มแล้วลุกให้เร็ว (Resilience) ที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางด้านอารมณ์ ทำให้รับมือกับปัญหาได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงมีทักษะการปรับตัว (Adaptability) ไว้คอยรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

  1. เน้นการขับเคลื่อนโดยผู้นำ

หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการสร้าง Learning Culture ที่แข็งแกร่งคือ การได้รับการสนับสนุนจากผู้นำองค์กร ตัวอย่างเช่น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ออกโปรแกรม “40-hour LEARNATHON” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยหลักสูตรจาก ทรู ดิจิทัล อคาเดมี่ และแพลตฟอร์มการพัฒนาทักษะชั้นนำของโลกที่หลากหลาย โดยให้พนักงานใช้เวลาเรียนรู้เพื่อที่จะอัพสกิลภายใน 40 ชั่วโมง ภายในสิ้นปี 2566

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร ได้กล่าวว่า “คนและวัฒนธรรมองค์กรคือหัวใจของความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายของการควบรวม เพื่อสร้างบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีแห่งอนาคต การยกระดับศักยภาพพนักงานทั้งองค์กรเป็นส่วนหนึ่งของแผนการทำ Transformation เพื่อให้ตอบโจทย์ธุรกิจ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว”

  1. รู้คุณค่าของการพัฒนา และแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์

ทีม HR จะต้องรู้ว่าการพัฒนาคนนั้นช่วยองค์กรในด้านใดบ้าง ตัวอย่างเช่น เป็นการเพิ่ม Productivity การที่พนักงานลาออกน้อยลง หรือมีการพัฒนาสกิลที่จำเป็นในอนาคต นอกจากนั้นทีม HR เองก็ต้องสื่อสารสิ่งเหล่านี้ออกไปให้ผู้บริหารรับรู้ด้วยเพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาในวงกว้างมากยิ่งขึ้น เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็เหมือนกับการที่เราซื้ออุปกรณ์มาช่วยในการทำงาน เราไม่ได้ซื้อเพราะแค่ความสวยงาม แต่เราต้องรู้ด้วยว่ามันจะช่วยให้เราทำไงได้ง่ายหรือเร็วขึ้นได้อย่างไร

  1. ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขององค์กร

โครงสร้างพื้นฐานขององค์กรประกอบด้วย 1) Technology Architecture หรือโครงสร้างทางเทคโนโลยี เช่น ระบบจัดการการเรียนรู้ภายในองค์กร 2) Organizational Philosophy ปรัชญาองค์กร เช่น เป้าหมายและการให้ความสำคัญในการพัฒนาคน 3) Strategic Decision-making Processes กระบวนการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ ซึ่งคือการตัดสินใจเพื่อความอยู่รอดขององค์กรในสภาพแวดล้อมที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

องค์กรสามารถจัดการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ได้ผ่านการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง โปรโมตค่านิยมในการเรียนรู้ว่าดีหรือช่วยพัฒนาพนักงานได้อย่างไร รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะที่จำเป็น เช่น ทักษะความเป็นผู้นำ เมื่อองค์กรสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยให้พนักงานได้พัฒนาตนเอง องค์กรก็จะได้คนที่เก่งขึ้น นำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต

  1. ให้ความสำคัญกับ People Development

ทีม HR ควรมีการทำ People Analytics หรือการวิเคราะห์มูลพนักงานเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาองค์กร และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เน้นการออกแบบที่ให้พนักงานเป็นศูนย์กลาง (Human-centered Design) และการคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) หรือการหาทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ เพื่อให้ทุกแผนกในองค์กรสามารถทำงานร่วมกันอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพนักงานมากกว่า 70% ระบุว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บทบาทของฝ่าย People Development มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ และมีการทำงานร่วมกันระหว่างแผนกมากขึ้นภายในองค์กรของตนเอง

การพัฒนา "คน" เป็นสิ่งที่องค์กรจะต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง เพราะคนคือหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จ กลยุทธ์ 8 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น เป็นแนวทางที่องค์กรสามารถนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ องค์กรจะต้องมี "วัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้" ที่แข็งแกร่ง ผู้นำทุกระดับต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้พนักงานเรียนรู้และพัฒนาทักษะอยู่เสมอ

เมื่อองค์กรให้ความสำคัญกับ "คน" จริง ๆ พนักงานก็จะมีความสุข ใฝ่เรียนรู้ และเติบโตไปพร้อมกับองค์กร ผลลัพธ์ที่ตามมาคือองค์กรจะสามารถรักษาพนักงานปัจจุบันไว้ได้ รวมถึงดึงดูด Talent ใหม่ ๆ เข้ามาอีกด้วย องค์กรจะกลายเป็น "องค์กรแห่งการเรียนรู้" ที่ยั่งยืน และสามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในยุคสมัยใหม่

ที่มา

https://www.mckinsey.com/capabilities/people-and-organizational-performance/our-insights/reimagining-people-development-to-overcome-talent-challenges#/

https://www.manpowerthailand.com/th/blxk/2024/01/meos-q1?source=google.com

https://trueblog.dtac.co.th/blog/learnathon/

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง