มัดรวม 12 กิจกรรม Ice Breaking กิจกรรมละลายพฤติกรรมสนุก ๆ

December 17, 2024
Disrupt Team
Ice Breaking

Ice Breaking หรือกิจกรรมละลายพฤติกรรมจุดเริ่มต้นของการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างพนักงานด้วยกัน กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม องค์กรและ ธุรกิจเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพใช้กิจกรรม Ice Breaking เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ให้กับทีมสมาชิกใหม่ ผลลัพธ์ไม่ใช่แค่พฤติกรรมที่ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง แต่ยังเป็นการปลดล็อกให้พนักงานกล้าแสดงความคิดและมุมมองใหม่ ๆ ในบทความนี้ เราได้รวมตัวอย่างกิจกรรม Ice Breaking ที่ใช้งานได้จริง ที่จะช่วยสร้างความสนุกและละลายพฤติกรรมไปพร้อมๆกัน ซึ่งกิจกรรมละลายพฤติกรรมมักถูกใช้บ่อยในการจัดอบรมพนักงาน เพื่อการสร้างการทำงานเป็นทีมอีกด้วย

หากผู้อ่านสนใจจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรมแบบแปลกใหม่แทรกสาระและความรู้ใน In House Training ติดต่อทาง Disrupt Technology Venture ได้เลย

Highlight

  • การละลายพฤติกรรมของผู้เข้าร่วม ทำให้มีโอกาสได้เป็นตัวของตัวเอง กล้าแสดงออก กล้าเปิดใจพูดคุยและแสดงความคิดเห็นของตัวเองกับคู่ทำกิจกรรม 
  • Ice Breaking มีประโยชน์หลายข้อทั้งช่วยผ่อนคลาย สร้างความสนุกสนาน และยังช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการเริ่มต้นทำกิจกรรมด้วย
  • การแนะนำตัวผ่าน Lock Screen แสดงตัวตนของแต่ละคนในมุมที่สนุกและน่าสนใจ สามารถเปิดบทสนทนาใหม่ ๆ เพิ่มทักษะการสื่อสาร

Ice Breaking คืออะไร ?

Ice Breaking คือ

Ice Breaking (กิจกรรมละลายพฤติกรรม) คือ กิจกรรมสั้นๆเพื่อใช้ในการเตรียมความพร้อม และสร้างบรรยากาศที่สร้างความรู้สึกปลอดภัย เพื่อการละลายพฤติกรรมของผู้เข้าร่วม ให้มีโอกาสได้เป็นตัวของตัวเอง กล้าแสดงออก กล้าเปิดใจพูดคุยและแสดงความคิดเห็นของตัวเองกับคู่ทำกิจกรรม หรือสมาชิกในกลุ่มได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่ง Ice Breaking Game ยังเป็นกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ที่มักถูกนำมาใช้ในกิจกรรม Team Building ในองค์กรด้วย

5 สิ่งที่จะได้รับจากการทำกิจกรรม Ice Breaking

ข้อดีของ Ice Breaking

การจัดกิจกรรม Ice Breaking มีประโยชน์หลายข้อทั้งช่วยผ่อนคลาย สร้างความสนุกสนาน และยังช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการเริ่มต้นทำกิจกรรม โดยเฉพาะสำหรับองค์กรที่ต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือในทีม เราได้สรุปมา 5 ข้อดังนี้

1. ผ่อนคลายความตึงเครียดให้กับพนักงาน

รู้ไหมว่าการที่พนักงานได้ทำกิจกรรมนันทนาการ ละลายพฤติกรรมช่วยทำให้พนักงานได้รับความผ่อนคลาย สามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ และช่วยให้สมองได้ผ่อนคลายจากความเครียด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานที่ท้าทายอีกครั้ง ลองนึกภาพว่าสมองของเราเปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์ เมื่อทำงานหนักมาทั้งวัน การได้พักผ่อนและทำกิจกรรมสนุกๆ ก็เหมือนกับการรีเซ็ทระบบ ทำให้เราสามารถกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. ช่วยให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกัน

แน่นอนว่ากิจกรรมแนะนำตัวในการละลายพฤติกรรม ไม่เพียงแต่ทำให้พนักงานได้รู้จัก ชื่อ นามสกุลแล้ว Ice Breaking ยังช่วยให้เราได้รู้จักบุคลิกภาพ ความสนใจ และทักษะพิเศษของเพื่อนร่วมงานมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์ค เพราะการที่เราเข้าใจกันและกันจะทำให้การทำงานราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. ช่วยเตรียมความพร้อมในด้านร่างกายและจิตใจ

กิจกรรม Ice Breaking เปรียบเสมือนการวอร์มอัพร่างกายและจิตใจก่อนเริ่มทำงานจริง ช่วยให้พนักงานได้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึงเครียดจากการเดินทางหรือการทำงานในท่าเดิมๆ การได้เคลื่อนไหวร่างกายเบาๆ หรือเล่นเกม Ice Breaking ร่วมสนุกที่ต้องใช้การเคลื่อนไหว จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ทำให้รู้สึกสดชื่นและมีสมาธิในการทำงานมากขึ้น

4. สร้าง Empathy ระหว่างบุคลากร

Empathy หรือ การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำงานเป็นทีม มักจะเกิดขึ้นเมื่อเราได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เราจะสามารถเข้าใจถึงมุมมองและความรู้สึกของเพื่อนร่วมงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทีมผ่านกิจกรรมละลายพฤติกรรมก่อนอบรม ให้ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และสร้างทักษะการสื่อสารในทีมได้ด้วย

5. กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

กิจกรรม Ice Breaking เปรียบเสมือนการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทีม แต่ยังเป็นการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ของสมาชิกทุกคนอีกด้วย การได้ทำกิจกรรมที่ต้องใช้จินตนาการและความคิดริเริ่ม จะช่วยกระตุ้นให้สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ทำงานได้อย่างเต็มที่ ผลลัพธ์ที่ได้คือการเกิดไอเดียใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างหลากหลาย

สรุปสิ่งที่ได้จากการกิจกรรมละลายพฤติกรรม:

กิจกรรม Ice Breaking ช่วยให้เราได้รู้จักกันมากขึ้น ทำให้รู้สึกสบายใจ และพร้อมที่จะทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งจะส่งผลดีต่อบรรยากาศโดยรวมและประสิทธิภาพในการทำงาน

นอกจากนี้ การทำกิจกรรม Ice Breaking ยังเป็นการสร้างความสนุกสนานและความบันเทิง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกผ่อนคลายและจดจำประสบการณ์ที่ดีได้อีกด้วย

12 กิจกรรม Ice Breaking ที่คัดมาแล้วว่าใช้ได้จริง สนุกแน่นอน

กิจกรรม Ice Breaking

จากข้อดีทั้งหมดที่ได้กล่าวมาคาดว่าผู้อ่านคงอยากทำกิจกรรม Ice Breaking กันแล้ว ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกิจกรรมนันทนาการช่วยคลายเครียดเกมละลายพฤติกรรมสนุกๆที่คัดเลือกมาแล้วว่าทำตามได้ง่าย และใช้งานได้จริง

1. กิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ : "Lock Screen Story" แนะนำตัวผ่านหน้าจอ Lock Screen

แนะนำตัวผ่านหน้าจอ Lock Screen

กติกา

1. ทำเป็นกิจกรรมกลุ่มหรือจับคู่: แบ่งพนักงานออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆหรือจับคู่ กลุ่มละประมาณ 2-6 คน แนะนำตัวด้วยชื่อเล่น และตำแหน่งงาน จากนั้นจับเวลา 5-10 นาทีแล้วเริ่มกิจกรรม"Lock Screen Story"
2. ให้ทุกคนโชว์ Lock Screen:

  • กิจกรรมสานสัมพันธ์นี้ เล่นง่ายๆ เพียงให้ทุกคนแสดงหน้าจอ Lock Screen ของโทรศัพท์มือถือ โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายเหตุผลหรือเล่าอะไรเพิ่มเติมในทันที
  • หน้าจออาจเป็นรูปสถานที่ท่องเที่ยวที่ชอบ, รูปสัตว์เลี้ยง, คำคมที่สร้างแรงบันดาลใจ, หรือสิ่งอื่น ๆ ที่สะท้อนตัวตนของเจ้าของภาพ

3. เล่าเรื่องราว:

  • หรือเหตุผลที่ทำให้ภาพนั้นมีความหมายพิเศษ เช่น ภาพนี้คือที่เที่ยวในฝัน, รูปสัตว์เลี้ยงตัวโปรด, หรือภาพที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายทุกครั้งที่เห็น

4. แชร์ความรู้สึกร่วมกัน:

  • เมื่อทุกคนแนะนำตัวผ่าน Lock Screen เสร็จแล้ว ให้สมาชิกในกลุ่มพูดคุยถึงสิ่งที่พวกเขาเชื่อมโยงกับหน้าจอเหล่านั้น เช่น เคยไปสถานที่เดียวกัน, ชอบสัตว์ชนิดเดียวกัน หรือรู้สึกผ่อนคลายเหมือนกันเมื่อเห็นภาพแนวนี้

ประโยชน์ของกิจกรรมกระชับสัมพันธ์นี้: การแนะนำตัวผ่าน Lock Screen เป็นวิธีที่สร้างสรรค์และแสดงตัวตนของแต่ละคนในมุมที่สนุกและน่าสนใจ กิจกรรมนี้ยังช่วยให้เพื่อนร่วมงานได้มองเห็นความสนใจส่วนตัว และสามารถเปิดบทสนทนาใหม่ ๆ เพิ่มทักษะการสื่อสารจากความเชื่อมโยงของความชอบและความรู้สึกร่วมกันได้

2. วาดภาพทายคำ

วาดภาพทายคำ

กิจกรรม Ice Breaking "วาดภาพทายคำ" เป็นกิจกรรมที่สนุกและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ โดยผู้เข้าร่วมจะต้องวาดภาพแทนการใช้คำพูด เพื่อให้สมาชิกในทีมได้ทายคำหรือสุภาษิตไทยที่กำหนด เป็นการผสมผสานระหว่างการวาดภาพและการใช้ความคิดสร้างสรรค์

กติกา:

1. แบ่งทีม: แบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็นทีมละ 4-6 คน

2. เตรียมคำ:

  • ผู้จัดเตรียมคำเช่น สุภาษิตไทยหรือคำที่แทนกิจกรรมที่ทำร่วมกัน เช่น น้ำขึ้นให้รีบตัก , เหยียบเรือสองแคม ,เขียนเสือให้วัวกลัว ,หมูกระทะ ,ประชุมยันเย็น เป็นต้น
  • เขียนคำไว้บนกระดาษหรือการ์ดแยกกัน

3. เริ่มกิจกรรม:

  • สมาชิกทีมแรกจะเลือกคำจากการ์ดและเป็น "นักวาด"
  • สมาชิกนักวาดจะมีเวลาประมาณ 1-2 นาทีในการวาดภาพที่สื่อความหมายของคำโดยไม่สามารถใช้คำพูดหรือสัญลักษณ์ใด ๆ ในการสื่อสาร

4. เดาทาย:

  • ทีมอื่นจะต้องเดาคำจากภาพที่นักวาดวาด
  • หากทายถูกในเวลาที่กำหนด จะได้รับคะแนน

5. เปลี่ยนทีม:

  • ให้ทีมอื่นได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมโดยการสลับผู้วาด

6. ผู้ชนะ:

  • ทีมที่สะสมคะแนนได้มากที่สุดเมื่อสิ้นสุดกิจกรรมจะเป็นผู้ชนะ

ประโยชน์ของกิจกรรมกระชับสัมพันธ์นี้:
กิจกรรม "ต่อแถววาดภาพทายคำ" ช่วยส่งเสริมการทำงานเป็นทีม การสื่อสารที่สร้างสรรค์ และการเรียนรู้เกี่ยวกับสุภาษิตไทยในบรรยากาศที่สนุกสนานและผ่อนคลาย นอกจากนี้ยังเป็นวิธีที่ดีในการสร้างความสัมพันธ์และความรู้จักกันในทีม!

3. ปลาทู ปลาทอง

กติกา:

1. จับคู่: ให้ทุกคนจับคู่กับคนข้างๆ หันหน้าเข้าหากันและทำการเป่ายิ้งฉุบ

  • หากใครชนะจะเป็น "ปลาทู" ส่วนคนที่แพ้จะเป็น "ปลาทอง"

2. เตรียมตัว: ทั้งคู่จะต้องสอดมือเข้าหากันในท่าทางที่เหมือนสลับฟันปลา

3. เล่านิทาน: MC จะเริ่มเล่านิทานให้ฟัง โดยในระหว่างที่เล่า หาก MC พูดคำว่า "ปลาทอง" ให้คนที่เป็นปลาทองตบมือเพื่อให้เพื่อน ๆ ได้ยิน แต่ถ้า MC พูดถึง "ปลาทู" คนที่เป็นปลาทูก็ต้องหลบไม่ให้โดนตบมือ

4. ดำเนินการต่อ: MC จะเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดเวลา

การตัดสิน:

  • MC จะพูดคำว่า "ปลาทู" และ "ปลาทอง" รัวๆ ให้พนักงานได้เล่นกันสนุกสนานจนกว่าเกมจะจบ

กิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่น แต่ยังช่วยในการพัฒนาทักษะการฟังและการตอบสนองในบรรยากาศที่สนุกสนานอีกด้วย!

4. คำพูดต้องห้าม

คำพูดต้องห้าม

กติกา:

1. เตรียมคำศัพท์: ผู้จัดเตรียมคำศัพท์หรือวลีที่เกี่ยวข้องกับการทำงานหรือเรื่องทั่วไปที่สนุกสนาน เช่น "ประชุม," "ทำงานดึก," "กาแฟ," "โบนัส," หรือคำที่ท้าทายมากขึ้น เช่น “สามัคคี” หรือ “ทีมเวิร์ค”

2. ติดคำศัพท์:แปะกระดาษที่มีคำศัพท์หนึ่งคำไว้บนหน้าผากของผู้เล่นแต่ละคน โดยผู้เล่นจะไม่สามารถเห็นคำบนหน้าผากตัวเอง แต่ทุกคนในทีมจะมองเห็นคำของเพื่อนร่วมทีม

3. การสื่อสารโดยไม่ใช้คำต้องห้าม:

  • ผู้เล่นจะต้องพยายามถามคำถามหรือพูดคุยกับคนในทีม เพื่อพยายามเดาคำศัพท์บนหน้าผากของตัวเอง
  • ทุกคนสามารถพูดอะไรก็ได้ยกเว้นคำต้องห้ามที่อยู่บนหน้าผากเพื่อนร่วมทีม หากหลุดพูดคำที่ต้องห้ามออกไป จะถูกตัดคะแนนของทีมในรอบนั้นทันที

4. กำหนดเวลาในการเล่นแต่ละรอบ: (เช่น 1-2 นาที) โดยผู้เล่นต้องพยายามเดาคำศัพท์ของตัวเองให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด หากทายถูกจะได้รับคะแนน แต่ถ้าทายไม่ถูก ก็ต้องรอลุ้นในรอบถัดไป

5. เปลี่ยนคำศัพท์: หลังจบรอบ ให้สลับคำศัพท์ของแต่ละคน และเริ่มรอบใหม่

6. ผู้ชนะ: ทีมที่สะสมคะแนนจากการทายถูกมากที่สุดเมื่อจบกิจกรรมจะเป็นผู้ชนะ

ประโยชน์ของกิจกรรม Ice Breaking นี้: กิจกรรมนี้ช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ในทีม เพิ่มความสนุกและผ่อนคลายในที่ทำงาน แถมยังสร้างเสียงหัวเราะและเชื่อมความสัมพันธ์ของพนักงานได้ดี ทำให้ทุกคนได้รู้จักกันในบรรยากาศที่เป็นกันเอง

5. คำถามทลายกำแพง

Deep Talk Questions

คำถามทลายกำแพงหรือ Deep Talk Questions เป็นเครื่องมือที่ดีในการเริ่มการสนทนาและสร้างความคุ้นเคยให้พนักงาน ในการทำกิจกรรม Ice Breaking หรือการสร้างทีม กติกาสามารถปรับได้ตามความเหมาะสมอาจให้ถามคำถามที่ไม่ซ้ำกันวนไปจนครบหรือจับคู่แล้วผลัดกันถาม-ตอบก็ได้ นี่คือคำถามทลายกำแพงที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที

  1. ถ้าคุณสามารถเลือกที่จะไปท่องเที่ยวที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ คุณจะเลือกที่ไหนและทำไม?
  2. สิ่งใดในชีวิตที่คุณภูมิใจที่สุดและทำไม?
  3. ถ้าคุณมีพลังพิเศษ 1 วัน คุณจะเลือกใช้พลังนั้นทำอะไร?
  4. คุณมีสิ่งใดในชีวิตที่อยากลองทำแต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้ทำ?
  5. ถ้าคุณต้องเลือกอาหารจานเดียวที่สามารถทานได้ตลอดชีวิต คุณจะเลือกอะไร?
  6. คุณมีความสนใจหรืองานอดิเรกอะไรที่คนอื่นอาจไม่รู้จัก?
  7. ถ้าคุณสามารถใช้เวลา 1 วันกับคนที่มีชื่อเสียง หรือคนที่คุณเคารพ คุณอยากเลือกใครและทำกิจกรรมอะไรด้วยกัน?
  8. คุณเคยทำอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นหรือกล้าหาญที่สุดในชีวิตหรือไม่? เล่าให้ฟังหน่อย!
  9. มีคำคมหรือคำพูดใดที่คุณใช้เป็นแรงบันดาลใจในชีวิตประจำวันของคุณ?
  10. ถ้าคุณสามารถย้อนเวลากลับไปในอดีต คุณอยากให้ตัวเองได้ทำอะไรแตกต่างจากที่เคยทำ?

คำถามเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมได้พูดคุยเกี่ยวกับตัวเองและเปิดใจมากขึ้น ช่วยสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองและผ่อนคลายในการเริ่มต้นทำความรู้จักกัน!

6. Speed Meeting

กิจกรรม Ice Breaking ทำความรู้จักเพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีโอกาสพูดคุยและทำความรู้จักกันในระยะเวลาสั้นๆ

กติกาการเล่น:

1. จัดเตรียมสถานที่:

  • กำหนดพื้นที่ในการจัดกิจกรรม เช่น การจัดโต๊ะในรูปแบบกลุ่มเล็กๆ หรือการนั่งเป็นวงกลม

2. เริ่มกิจกรรม:

  • ผู้เข้าร่วมจะต้องหาคู่กับผู้เข้าร่วมคนอื่นในระยะเวลาสั้นๆ (เช่น 3-5 นาที) เพื่อทำความรู้จักกัน

3. การพูดคุย:

  • ในระหว่างการพูดคุย ผู้เข้าร่วมสามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเอง เช่น งานอดิเรก อาชีพ หรือประสบการณ์ชีวิต เพื่อทำความรู้จักกัน
  • เมื่อถึงเวลาที่กำหนด (3-5 นาที) จะมีสัญญาณเตือน (เช่น นาฬิกา หรือเสียงบีบี) ให้ผู้เข้าร่วมเปลี่ยนคู่

4. เปลี่ยนกลุ่ม:

  • ผู้เข้าร่วมทุกคนจะต้องเปลี่ยนไปพูดคุยกับผู้เข้าร่วมคนถัดไป โดยให้เวลาพูดคุยเท่าเดิม

5. รอบการพูดคุย:

  • ทำซ้ำขั้นตอนนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าทุกคนจะได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เข้าร่วมทั้งหมด หรือจนถึงจำนวนรอบที่กำหนดไว้

6. จบกิจกรรม:

  • หลังจากเสร็จสิ้นการพูดคุย ผู้เข้าร่วมสามารถแชร์ความรู้สึกหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรม หรืออาจจะแลกเปลี่ยนข้อมูลติดต่อกันได้

ประโยชน์ของกิจกรรมนี้:

  • ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วม
  • เพิ่มโอกาสในการสร้างเครือข่าย
  • กระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมรู้จักกันอย่างรวดเร็ว

7. ประติมากรรมมนุษย์

กติกา

1. แบ่งพนักงานออกเป็นทีมละ 4-6 คน (หรือขึ้นอยู่กับจำนวนคน) แต่ละทีมจะต้องมีสมาชิก 1 คนทำหน้าที่เป็น “ศิลปิน” ส่วนที่เหลือจะเป็น “ประติมากรรมมนุษย์”

2. แจกโจทย์ประติมากรรม: ผู้จัดเตรียม “โจทย์” ซึ่งอาจเป็นคำง่าย ๆ หรือหัวข้อที่ท้าทาย เช่น หอเอนปิซ่า, พิรามิดอียิปต์, ร่องเรือเวนิซ

3. สร้างท่าทาง

  • ศิลปินของแต่ละทีมจะมีเวลา 1 นาทีในการจัดท่าทางให้กับสมาชิกทีมคนอื่น ๆ ให้สื่อถึงโจทย์ที่ได้รับ โดยไม่บอกให้คนอื่นรู้ว่าคืออะไร
  • สมาชิก “ประติมากรรม” ห้ามขยับหรือเปลี่ยนท่าทาง ต้องทำท่าตามที่ศิลปินจัดให้

4. ทายคำ:

  • หลังจากเวลาหมดลง ให้ทีมอื่น ๆ ได้ดูผลงานประติมากรรมและทายว่าผลงานนั้นคืออะไร
  • หากทีมอื่นทายถูก จะได้รับคะแนน และทีมที่สร้างท่าทางได้ถูกทายถูกจะได้รับคะแนนเช่นกัน

5. เปลี่ยนบทบาทและรอบต่อไป: เปลี่ยนศิลปินในแต่ละรอบ เพื่อให้สมาชิกทุกคนมีโอกาสได้เป็นทั้ง “ศิลปิน” และ “ประติมากรรมมนุษย์”

6. ทีมที่สะสมคะแนนิ จากการทายและการสร้างประติมากรรมได้มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะของกิจกรรมนี้อาจให้รางวัลเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ทำกิจกรรมรอบต่อๆไป

ประโยชน์ของกิจกรรม Ice Breaking นี้: กิจกรรมนี้ช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูด การทำงานร่วมกันหรือทีมเวิร์ค และสร้างเสียงหัวเราะในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย กิจกรรมนี้ยังทำให้พนักงานได้ออกกำลังกายเบา ๆ และเชื่อมโยงกันผ่านการเล่นสนุก

8. สายพานมนุษย์

สายพานมนุษย์

วัตถุประสงค์: เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสมาชิกในทีม และกระตุ้นการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

กติกา

1. เตรียมอุปกรณ์:

  • วัตถุที่จะส่งต่อ (เช่น ลูกบอล, ลูกปิงปอง)
  • กระดาษแข็งเพื่อทำเป็น “สายพาน”

2. วิธีการเล่น:

  • ผู้เล่นจะยืนเรียงกันเป็นแถวหรือวงกลม โดยแต่ละคนจะถือกระดาษแข็งในมือ
  • กำหนดทิศทางการส่งต่อ (เช่น ซ้ายไปขวาหรือขวาไปซ้าย)
  • เมื่อเริ่มต้น MC จะบอกให้ผู้เล่นเริ่มส่งต่อของ โดยห้ามให้ของตกพื้น ถ้าตกต้องเริ่มใหม่จากจุดเริ่มต้น
  • ผู้เล่นสามารถใช้มือทั้งสองข้างในการถือกระดาษแข็งเพื่อส่งต่อลูกปิงปอง แต่ไม่สามารถจับสิ่งของนั้นโดยตรง
  • สามารถเพิ่มความท้าทายโดยการกำหนดเวลาให้ส่งต่อให้เร็วที่สุดหรือให้ใช้เทคนิคการส่งต่อที่แตกต่างกัน

3. การตัดสิน:

  • ผู้เล่นสามารถทำคะแนนได้เมื่อสามารถส่งต่อของได้ครบทุกคนโดยไม่มีการตก
  • สร้างการแข่งขันโดยการจับเวลา และทีมที่ใช้เวลาน้อยที่สุดจะเป็นผู้ชนะ

4. บทสรุป: หลังจากกิจกรรมเสร็จสิ้น ให้ MC สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานเป็นทีม เช่น ความสำคัญของการสื่อสาร การประสานงาน และความเชื่อใจซึ่งกันและกัน

กิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างความสนุกสนาน ยังช่วยในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วย!

9. 3 Things in Common ค้นหา 3 สิ่งที่เหมือนกัน

กติกา

  1. จับกลุ่ม: แบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็นกลุ่มเล็กๆ (2-5 คนต่อกลุ่ม)
  2. ค้นหา: ให้แต่ละกลุ่มมีเวลา 5-10 นาทีในการค้นหา "3 สิ่งที่เหมือนกัน" ระหว่างสมาชิกในกลุ่ม โดยสามารถเป็นเรื่องส่วนตัว ความสนใจ หรือประสบการณ์ที่คล้ายกัน
  3. นำเสนอ: เมื่อครบเวลา แต่ละกลุ่มจะต้องนำเสนอ 3 สิ่งที่พวกเขาค้นพบให้กับกลุ่มใหญ่ (ใช้เวลา 1-2 นาทีในการนำเสนอ)
  4. อภิปราย: สามารถเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมถามคำถามเพิ่มเติมหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่นำเสนอ

กฎกติกา:

  • ผู้เข้าร่วมต้องพยายามค้นหาสิ่งที่เหมือนกันอย่างน้อย 3 อย่าง โดยไม่สามารถใช้ข้อมูลพื้นฐานเช่น "ทำงานที่เดียวกัน" หรือ "อายุเท่ากัน"
  • การค้นหาความเหมือนกันควรเป็นเรื่องที่หลากหลาย เช่น งานอดิเรก หนังที่ชอบ หรืออาหารที่ชอบ

ประโยชน์ของกิจกรรม Ice Breaking นี้:

  • ช่วยสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองและผ่อนคลาย
  • เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้รู้จักกันมากขึ้น
  • เพิ่มความเชื่อมั่นและการทำงานร่วมกันในทีม

10. Human Bingo บิงโกมนุษย์

Human Bingo

1. เตรียมกระดานบิงโก:

  • สร้างกระดานบิงโกที่มีช่อง 5x5 โดยแต่ละช่องจะมีคำถามหรือคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับผู้เล่น เช่น "ใครที่ชอบอ่านหนังสือ" หรือ "ใครที่เคยเดินทางไปต่างประเทศ"

2. แจกกระดาน:

  • แจกกระดานบิงโกให้กับผู้เล่นแต่ละคน พร้อมกับปากกา/ดินสอสำหรับทำเครื่องหมาย

3. เริ่มเกมส์:

  • ให้ผู้เล่นเดินไปรอบๆ และถามคำถามในช่องบิงโกของตัวเองกับผู้เล่นคนอื่น เพื่อค้นหาผู้ที่ตรงตามคำอธิบายในช่องนั้นๆ

4. ทำเครื่องหมาย:

  • เมื่อผู้เล่นค้นพบคนที่ตรงตามคำถาม ให้ทำเครื่องหมายในช่องนั้นบนกระดานของตน

5. ชนะเกมส์:

  • ผู้เล่นคนแรกที่ทำเครื่องหมายครบ 5 ช่องในแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวทแยง (Bingo) จะต้องตะโกนว่า "บิงโก!" และแชร์ข้อมูลที่ได้จากการถามผู้เล่นคนอื่น

6. ต่อเกมส์:

  • เกมส์สามารถดำเนินต่อไปเพื่อให้ผู้เล่นคนอื่นมีโอกาสชนะ หรือสามารถเล่นจนถึงจุดที่ผู้เล่นได้ทำเครื่องหมายครบทุกช่อง

11. วาดภาพสามัคคี

วาดภาพสามัคคี

กิจกรรม Ice Breaking "วาดภาพสามัคคีด้วยปากกาด้ามเดียว" เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์และสนุกสนาน ที่ผู้เข้าร่วมจะได้ทำงานร่วมกันในการวาดภาพ โดยใช้ปากกาด้ามเดียวและเชือก ทำให้ทุกคนต้องร่วมมือกันในการสร้างสรรค์ผลงานที่สื่อถึงความสามัคคีในทีม

กติกา:

1. เตรียมอุปกรณ์:

  • ปากกาหรือมาร์กเกอร์ด้ามเดียว
  • เชือกยาวประมาณ 1-2 เมตร (ความยาวขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เข้าร่วม)
  • กระดาษขนาดใหญ่สำหรับวาดภาพ

2. แบ่งทีม:

  • แบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็นทีมละ 4-6 คน

3. กำหนดโจทย์:

  • ผู้จัดสามารถกำหนดโจทย์ให้วาดภาพตามหัวข้อ เช่น "ธรรมชาติ," "สัตว์," หรือ "กิจกรรมในองค์กร"

4. เริ่มกิจกรรม:

  • ให้สมาชิกในแต่ละทีมผูกเชือกกับปากกาและจับเชือกนี้ในลักษณะที่ทุกคนต้องทำงานร่วมกัน
  • เมื่อเริ่มวาด สมาชิกในทีมจะต้องสื่อสารและทำงานร่วมกันในการวาดภาพให้เสร็จตามโจทย์ที่กำหนด

5. การนำเสนอผลงาน:

  • หลังจากวาดเสร็จแต่ละทีมจะต้องนำเสนอผลงาน โดยอธิบายถึงความหมายของภาพที่วาดและวิธีการทำงานร่วมกัน

6. การตัดสิน:

  • ให้ผู้เข้าร่วมทั้งหมดโหวตคะแนนให้กับผลงานที่ชอบที่สุด
  • ทีมที่ได้รับคะแนนสูงสุดจะเป็นผู้ชนะและสามารถได้รับรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ

ประโยชน์ของกิจกรรมนี้: กิจกรรม "วาดภาพสามัคคีด้วยปากกาด้ามเดียว" จะช่วยเสริมสร้างการทำงานเป็นทีมและการสื่อสารที่ดีภายในกลุ่ม สมาชิกจะได้เรียนรู้การประสานงานและการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ในบรรยากาศที่สนุกสนาน!

12. แคมเปญเซลฟี่รวมพลัง

แคมเปญเซลฟี่รวมพลัง

กติกา

1. เตรียมโจทย์: MC หรือผู้จัดกิจกรรม เตรียมโจทย์สำหรับการถ่ายเซลฟี่ โดยอาจมีรายการโจทย์ที่ผู้เข้าร่วมต้องทำตาม เช่น

  • เซลฟี่กับผู้เข้าร่วมคนอื่นที่มีสีเสื้อเหมือนกัน
  • เซลฟี่ที่แสดงอารมณ์ที่แตกต่างกัน (ยิ้ม, หน้าเศร้า, หน้าเบื่อ)
  • เซลฟี่ขณะทำท่าทางแปลก ๆ หรือท่าที่ตลก
  • เซลฟี่กับวัตถุในห้อง เช่น ขวดน้ำ, หนังสือ, หรือสิ่งของใกล้ตัว

2. การแบ่งกลุ่ม: แบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ (3-5 คนต่อกลุ่ม)

3. เวลาในการทำกิจกรรม: ให้เวลาประมาณ 15-20 นาทีในการถ่ายเซลฟี่ตามโจทย์ที่กำหนด

4. นำเสนอ: หลังจากถ่ายภาพเสร็จ ผู้เข้าร่วมสามารถนำเสนอเซลฟี่ของตนเองต่อกลุ่มใหญ่ โดยอธิบายความสนุกหรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับภาพนั้น ๆ

5. การโหวต: ถ้าต้องการ สามารถให้ผู้เข้าร่วมโหวตเซลฟี่ที่ดีที่สุดหรือเซลฟี่ที่สร้างสรรค์ที่สุด เพื่อมอบรางวัลเล็ก ๆ เช่น ของขวัญ หรือเกียรติบัตรให้กับผู้ชนะ

เคล็ดลับในการจัดกิจกรรม Ice Breaking ละลายพฤติกรรมพนักงานให้ได้ผล

  1. เลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และขนาดของกลุ่ม
  2. เตรียมอุปกรณ์และสถานที่ให้พร้อม
  3. สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายและสนุกสนาน
  4. กระตุ้นการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน
  5. สรุปบทเรียนและข้อคิดหลังจบกิจกรรม

สรุป Ice Breaking คืออะไร ทำไมถึงละลายพฤติกรรมได้?

สรุป Ice Breaking หรือกิจกรรมละลายพฤติกรรม คือกิจกรรมที่ช่วยให้สมาชิกในทีมสามารถทำความรู้จักกันและสร้างความสัมพันธ์ในบรรยากาศที่สนุกสนาน ช่วยลดความตึงเครียด สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร และกระตุ้นการสื่อสารระหว่างพนักงาน ส่งเสริมความสามัคคีในทีม โดยมักถูกใช้ในงานอบรมพนักงานและการพัฒนาทีมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกสบายใจและเปิดเผยมากขึ้น

หากสนใจจัด  In House Training ที่ได้ทั้งความสนุกสนานและการอัพสกิลพนักงาน Disrupt Corporate Training Program จะช่วยสร้างบรรยากาศที่เปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้และการแบ่งปันประสบการณ์ ช่วยให้ผู้เข้าร่วมรู้จักกันมากขึ้นและเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะทักษะการสื่อสารและการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาความสามารถของพนักงานในองค์กร

สามารถติดต่อทีมงาน In-House Training เพื่อรับคำปรึกษาหลักสูตรและกิจกรรมได้ที่

Disrupt Clients
Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง