Yui Jantanarak
Managing Director
หลายๆ ครั้งที่เรามักจะเห็นงาน Hackathon จัดขึ้นในฝั่ง Tech Startup เช่น FinTech, Travel Tech แต่ในฝั่งการศึกษากลับแทบไม่เคยมีงานเกี่ยวกับ Tech เหล่านี้เกิดขึ้นเลย ซึ่งเมื่อปีที่แล้วทางบริษัทดิสรัปท์ฯ เอง ก็ได้จัดงานเพื่อจุดประกายการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการศึกษาขึ้นมา ภายใต้ชื่อ “Education Disruption Conference & Hackathon 2018” และนำไปสู่โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านการศึกษาแห่งแรกในไทย "โครงการ StormBreaker Venture" และมี Edtech Startup ชั้นนำในโครงการ อย่าง Vonder, OpenDurian, Conicle และ insKru ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี
ซึ่งจากการจัดงานทั้ง Hackathon และ Accelerator เราพบว่ายังมีกลุ่ม Edtech Startup รวมถึงบุคคลทั่วไปอีกมาก ที่สมัครเข้ามาและอยากจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านการศึกษา อยากสร้าง Solution ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาประสบการณ์การเรียนการสอนในห้องเรียนให้ดีขึ้น อยากสร้าง tools ในการพัฒนาเด็ก หรือดูแลเด็กทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน และกลุ่มคนเหล่านี้ ยังมีสกิล มีความรู้ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็น Developer, Creative Designer, Data Scientist หรือแม้แต่กลุ่มผู้ปกครอง หรือตัวนักเรียน/นักศึกษาเองที่อยากจะเข้ามาทำตรงนี้
แต่ปัญหาคือ ทั้ง Startups และคนที่อยากมาช่วยเหล่านี้ มักไม่มีโอกาส ได้ไปเจอโจทย์หน้างาน เจอปัญหาจริง ๆ เจอห้องเรียนจริงในระบบการศึกษา ที่มีปัญหามากมาย บางครั้งก็ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร หรือยังไม่พบ "ข้อมูลเชิงลึก" หรือ "insight" ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และบางครั้งก็ยังถูกตีกรอบด้วยเรื่องของ "Business Model" ซึ่งต้องทำเงินได้หรือสามารถสร้างเป็นธุรกิจได้ในทันที
ในขณะที่ครูใน community ของ insKru นั้น เป็นครูรุ่นใหม่ที่เข้าใจปัญหามากที่สุด และมีไฟอยากเปลี่ยนแปลงการศึกษาเพื่อนักเรียน แต่ยังขาด Solution ขาดเพื่อนร่วมทีม ที่มีความสามารถ ที่จะมาช่วยทำให้เกิดขึ้นจริง
และเป็นที่น่าเสียดายที่ครูเหล่านี้ มักไม่ได้รับโอกาส ในการไปร่วมงานนวัตกรรมต่าง ๆ อย่าง Tech conference, Hackathon และไม่มีโอกาสได้ networking พบปะ พูดคุย หรือร่วมมือกับเหล่านวัตกร หรือ กลุ่ม EdTech Startup ที่พร้อมจะช่วยเหลือ และยังไม่มีโอกาสได้เรียนรู้กระบวนการสร้างนวัตกรรมอย่าง Design Thinking หรือ Lean Startup เนื่องด้วยภาระงานนอกเหนืองานสอนที่มากท่วมท้น
ด้วยแนวคิดดังกล่าว งาน insKru Hackathon ถูกจัดขึ้นด้วยการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทั้งมูลนิธิใจกระทิง, StormBreaker Venture by Disrupt, ดีแทค และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งคนที่มาช่วยทำงานทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นอาสาสมัครที่ตั้งใจ และอยากมีส่วนร่วมในการช่วยเปลี่ยนแปลงการศึกษาจริง ๆ และเป็นงานแรก ที่ผนึกกำลังคนจากโลกสองฝั่ง คือจากฝั่งการศึกษา (ครู) และฝั่งคนที่อยากมาช่วยการศึกษา เช่น Tech Startup, บุคคลทั่วไป, ผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งเด็กนักเรียนเอง ที่มานั่งทำงานร่วมกันและมีเป้าหมายหลักร่วมกัน คือ เพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษาของประเทศ โดยการนำปัญหาของคุณครูมาเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้าง Solution
หลังจาก Session แชร์ปัญหาจากครู เราพบว่าโดยหลัก ๆ ครูมีปัญหาใน 6 มิติ ได้แก่
1.ปัญหาด้านพฤติกรรมเด็ก
2.ปัญหาภาระงานสอน
3.ปัญหาภาระนอกเหนือการสอน
4.ปัญหาด้านวัสดุอุปกรณ์สื่อการสอน
5.ปัญหาความสัมพันธ์ของคนในองค์กร
6.ปัญหาอื่น ๆ
ในช่วงบ่ายของงานวันแรก ได้มีการจัดกลุ่มทำงาน ตามความสนใจ โดยมีเกณฑ์คือ ทุกกลุ่มจะต้องประกอบไปด้วย "ครู" ในกลุ่มอย่างน้อยหนึ่งคน และใช้หลักการ design thinking ในการผลักดันให้เกิด idea/solution ใหม่ ๆ ซึ่งจากงาน Hackathon ทั้ง 2 วัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราได้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของผู้เข้าร่วมงาน เราได้ไอเดียใหม่ ๆ ที่หาไม่ได้ในงาน Hackathon ทั่วไป เพราะนวัตกรรมหรือไอเดียใหม่นี้ เกิดจากข้อมูลเชิงลึกจากครู ผู้ที่ทำงานสอนในโรงเรียนจริง ๆ และมาเป็นผู้ร่วมในทีม รวมถึงบรรยากาศในงาน เป็นบรรยากาศที่ผู้มาร่วมงานมาช่วยกัน มากกว่ามาแข่งขันกัน
ตัวอย่างไอเดียใหม่ ๆ ที่เกิดในงาน insKru Hackathon นี้ ได้แก่
-แนวคิดในการสร้างแอปพลิเคชันในรูปแบบเกมส์ ที่นักเรียนสามารถเห็นคะแนนพฤติกรรมได้แบบเรียลไทม์
-ไอเดียในการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเก็บ Profile รวบรวมข้อมูลนักเรียนครอบคลุมรอบด้าน รวมทั้งทำเป็น Dashboard ได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบรายบุคคล หรือแบบภาพรวมชั้นเรียน และระบบสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ว่า เด็กมีปัญหาในด้านใดบ้าง
-เครื่องมือช่วยรวบรวมเอกสาร คัดแยกเอกสารการประเมินของครู บันทึกข้อมูลพร้อมสรุปให้และเดินเอกสาร เพื่อช่วยลดปัญหาด้านการทำเอกสารประเมินต่าง ๆ
-เครื่องมือช่วยเก็บโปรไฟล์ของครูแต่ละคน แสดงสถานะของโครงการที่ทำอยู่ การแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือ และรีวิวจากเพื่อนร่วมงาน เพื่อลดปัญหาภาระนอกเหนืองานสอนของครู
-คอร์สออนไลน์ ที่ให้ครูอบรมออนไลน์ในทักษะใหม่ ๆ ได้
-ระบบโน๊ตจดบันทึกความก้าวหน้าของเด็ก ด้วยเป้าหมายเล็ก ๆ ในแต่ละวัน แล้วประเมินผลว่าสิ่งที่ทำสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
-การ์ดในการช่วยคิดวิธีการสอนในห้องเรียนให้เป็นกิจกรรมที่สนุกขึ้น
-การ์ด/ board game ให้เด็กได้เริ่มรู้จักตนเอง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยค้นพบทักษะที่เด็กถนัด เป็นต้น
และปิดท้ายด้วยการนำเสนอผลงาน พร้อมกับทำ "crowd investment" คือผู้ร่วมงานแต่ละคนจะได้รับเงินลงทุน ในการที่จะเลือกลงทุนในทีมที่สนใจ และแก้ปัญหาให้ครูได้จริง ซึ่งเมื่อจบงาน ทุกทีมล้วนได้รับเงินทุนสนับสนุนกลับไปต่อยอดทำผลิตภัณฑ์กันต่อด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไอเดียที่ได้จากงานนี้ล้วนตอบสนองต่อความต้องการของครูจริง ๆ
จากตัวอย่างที่กล่าวมา เราอาจจะพอมองเห็นแล้วว่า นวัตกรรมการศึกษาที่ดี เกิดจากการออกแบบที่เกิดจากความเข้าใจความต้องการหรือปัญหาของครูที่อยู่ในบริบทนั้นจริง ๆ ซึ่งในช่วงแรกอาจยังไม่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย อย่าง AI, Machine Learning, Blockchain หรือ Big data แต่เทคโนโลยีจะตามมาในอนาคต เมื่อไอเดียนั้นตอบโจทย์ผู้ใช้จริงๆ และเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงประสบการณ์ของผู้ใช้ได้
ทั้งนี้แต่ละทีมที่เข้าร่วมงาน จะต้องนำไอเดียกลับไปทดลองใช้ที่โรงเรียน ก่อนนำกลับมานำเสนอผลงานกับผู้ใหญ่ในวงการการศึกษา, ผู้ที่สนใจ และนักลงทุน ผ่านงาน Graduation Day ของ insKru ในวันที่ 18 สิงหาคมนี้
ซึ่งงานนี้จะเป็นอีกหนึ่งช่องทาง เพื่อขยาย Solution และนวัตกรรมจากในงาน เผยแพร่กระจายออกไปผ่านเครือข่ายครูของ insKru ทั้ง online และ offline เครือข่ายผู้ปกครอง นักเรียน และพันธมิตร เพื่อนำไปสู่การต่อยอดการนำไปใช้จริงกับห้องเรียนทั่วประเทศในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงนั้น "ไม่ใช่เรื่องง่าย" เราไม่สามารถเปลี่ยนการศึกษาดั้งเดิม ด้วยการไปพยายามต่อสู้กับระบบการศึกษาเก่า ๆ แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยการสร้างสรรสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเดิม และเป็นที่ต้องการมากกว่าเดิม จนทำให้ระบบเก่า การศึกษาแบบเก่า ๆ นั้นล้าสมัยและไม่เป็นที่ต้องการไปเอง
และตอนนี้ถึงเวลาแล้ว ที่ประเทศไทยและการศึกษาไทย กำลังต้องการสิ่งใหม่ ๆ ที่สร้างประสบการณ์ใหม่ สร้างการเรียนรู้แบบใหม่ สร้างการทำงานแบบใหม่ สู่ห้องเรียน
เราเชื่อมั่นว่าการศึกษาไทยเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยการช่วยเหลือและทำงานร่วมกันระหว่างครู ผู้ปกครอง นักเรียน และพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพ ภาครัฐ หรือภาคเอกชน
สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของการศึกษาไทย ได้ที่เพจ Disrupt Technology Venture และ insKru