Yui Jantanarak
Managing Director
*ทราบหรือไม่ว่า 65-83% ของเด็กไทยอายุแรกเกิดถึง 5 ปี ที่มีพัฒนาการล่าช้า เป็นความล่าช้าของพัฒนาการด้านภาษา ความเข้าใจภาษา การใช้ภาษา ซึ่งเป็นพัฒนาการด้านที่ใช้เป็นตัวบ่งบอกถึงความฉลาด ด้านสติปัญญาของเด็กในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังพบว่า **เด็กวัยเรียน (ป.1-ม.3) กว่า 500,000 คนในประเทศ มีปัญหาด้านการอ่าน เขียนและสะกดคำ โดยปัญหา 80% ของเด็กกลุ่มนี้ ไม่ได้เกิดจากภาวะบกพร่องทางด้านการเรียน หรือสติปัญญาบกพร่อง แต่เกิดจากขาดความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยและไม่ได้รับการฝึกฝน
Love to Read การรวมตัวของทีมกุมารแพทย์รุ่นใหม่ไฟแรง พร้อมแล้วที่จะมาแก้ปัญหา สร้างความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมพัฒนาเด็กไทยด้วย “การส่งเสริมให้พ่อแม่เริ่มต้นอ่านหนังสือให้เด็กตั้งแต่เกิด”
ความสามารถของเด็ก สามารถกําหนดได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 0-3 ขวบ เพราะเป็นช่วงสำคัญในการพัฒนาสมองในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษา การตัดสินใจ การใช้เหตุผล ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความสามารถทางสติปัญญา ความสัมฤทธิ์ผลทางการเรียน ตลอดจนความสำเร็จในการประกอบอาชีพในอนาคตในระยะยาว ดังนั้น “ช่วงปฐมวัยจึงเป็นช่วงเวลาทองของการพัฒนาเด็ก”
หากเราอยากให้ลูกของเราเป็นเด็กเก่ง มีความจำดี มีสมาธิ มีพัฒนาการตามวัย เราต้องให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูในช่วงก่อนปฐมวัยอย่างมาก และหากผ่านพ้นจากช่วงเวลานี้ไปแล้วโดยไม่ได้ใส่ใจ ถ้าไม่ได้ตระหนักและกระตุ้นเด็ก ก็อาจทำให้เด็กมีปัญหาพัฒนาการล่าช้าได้ จนต้องมาคิดในใจว่า ‘สายเกินไปแล้ว’
ที่น่าแปลกใจคือ ผู้ปกครองหรือคุณพ่อคุณแม่เอง มักไม่ทราบว่าลูกของเรานั้นมีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า นอกจากนี้ในช่วงวัยนี้ พ่อแม่มีความเข้าใจผิดในการเลี้ยงดู บางครอบครัวส่งโทรศัพท์ หรือ แท็ปเล็ตให้ลูกเล่นทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงวัยแรกเกิดถึง 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เปราะบางต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อพ่อแม่ไม่ได้ให้ความสำคัญ ทำให้ไม่ได้ฝึกทันที กว่าจะทราบต้องรอให้มีคุณหมอเข้ามาตรวจ หรือรอจนเด็กเข้าโรงเรียนแล้ว ทำให้พลาดช่วงเวลาทองของการกระตุ้นพัฒนาการเหล่านั้นไป ซึ่งการจะตามแก้ปัญหาตอนโตนั้นใช้เวลาและยากกว่ามหาศาล
แล้วจะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ?
ทีม Love to read ก่อกำเนิดขึ้นจากกลุ่มกุมารแพทย์ รุ่นใหม่ไฟแรง จาก สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลพระมงกุฏ โดยในระหว่างการทำงานดูแลส่งเสริมพัฒนาการเด็ก คุณหมอได้พบปัญหาว่าพัฒนาการด้านภาษาของเด็กจำนวนมากล่าช้า ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อเด็กในการเรียนรู้ในชั้นเรียน การสัมฤทธิ์ผลทางด้านการเรียนในระยะยาว ไปจนถึงการทำงานในอนาคต ซึ่งพบว่าปัญหานั้นส่วนใหญ่เกิดจากการที่ “เด็กไม่ได้รับการกระตุ้นทางภาษาผ่านผู้ปกครอง” โดยสาเหตุที่เด็กไทยวัย 0-6 ปีไม่ได้อ่านหนังสือกับผู้ปกครอง เกิดจากผู้ปกครองขาดความตระหนัก และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอ่านหนังสือในเด็ก เพราะคิดว่าเด็กเล็กเกินไป และในบางพื้นที่เกิดจากปัญหาความยากจน ไม่มีทุนทรัพย์ซื้อหนังสือหรือเข้าถึงหนังสือได้
ทางทีมจึงอยากแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยการจัด กระบวนการสร้างแรงจูงใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง ให้อ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง และสร้างเวลาที่มีคุณภาพในครอบครัว เพราะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย เกิดเป็นโปรเจ็กต์ Love to Read มุ่งหน้าให้ความรู้กับคุณครูและผู้ปกครอง ผ่านกิจกรรมลงพื้นที่ อบรม และแจกหนังสือนิทาน เพื่อสร้าง“ชุมชนรักการอ่านต้นแบบ” พร้อมตรวจวัดพัฒนาการเด็กในพื้นที่ก่อนและหลังเข้าโครงการ
นอกจากนี้ทีม Love to Read ยังได้เข้าร่วมแข่งขันในงาน Education Disruption2 Hackathon 2020 ที่ทางดิสรัปท์ จัดร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และทางทีมได้คว้ารางวัล “Most Impactful Award” ไปครอง รวมถึงได้เข้าโครงการ StormBreaker Batch 3 อีกด้วย
ทางคุณหมอเล่าให้ฟังว่า หลายการศึกษาในต่างประเทศพบว่า การที่ผู้ปกครองอ่านหนังสือกับเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 3 ขวบปีแรก จะส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านภาษา และการสัมฤทธิ์ผลทางด้านการเรียน อีกทั้งการลงทุนกับการศึกษาของเด็กปฐมวัย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เช่น การศึกษาโครงการ Reach out of read ของประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่ลงทุนกับการศึกษาในเด็กยากจนปฐมวัย จะได้กำไรกลับมา 16-17 ดอลลาร์ จากการประสบความสำเร็จทางด้านการศึกษา และการประกอบอาชีพของเด็กในอนาคต
สิ่งที่คุณหมอทีม Love to Read ให้ความสำคัญเมื่อลงไปอบรมในพื้นที่ต่าง ๆ คือ
การมีเวลาร่วมกันภายในครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญมาก คุณหมอจะสอนวิธี Engage และสร้างความสัมพันธ์กับเด็ก ซึ่งหนึ่งในหลาย ๆ วิธีของการมีเวลาคุณภาพ นั้นก็คือ “การอ่านหนังสือกับเด็ก” ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย ประหยัด และยังเป็นการส่งเสริมพัฒนาการเด็กโดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านภาษา และจินตนาการไปในตัว ทั้งยังมีการบ้านให้คุณพ่อคุณแม่ไปทำบันทึก เช่น มีเวลาคุณภาพอะไรกับลูกบ้าง อ่านหนังสืออะไรกับลูกบ้าง ใช้เวลาในการอ่านเท่าใด อ่านเรื่องอะไร ได้สังเกตไหม ว่าลูกชอบวิธีการอ่านแบบไหน อ่านเสร็จแล้วมีกิจกรรมอะไรที่ทำกับลูกต่อเนื่องจากการอ่านหนังสือบ้าง
ซึ่งการมีเวลาคุณภาพกับเด็กนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเด็กจะรู้สึกว่าได้รับความรักจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง สร้างความผูกพันและความไว้ใจ เวลาเราจะชวนเด็กทำอะไร หรือสอนอะไรเด็กก็จะเชื่อฟัง และจะง่ายขึ้น
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ใช้เวลากับลูกมากขึ้น อาจมีการพบเจอปัญหาพฤติกรรม เช่น เด็กไม่ชอบอ่านหนังสือ คุณหมอจะแนะนำวิธีการจัดการปัญหาทางพฤติกรรมด้วยการฝึกวินัยเชิงบวก วิธีการคุยกับเด็ก การใช้คำสั่งที่เหมาะกับเด็ก ซึ่งหลักการก็ต้องเริ่มจากข้อ 1 ก่อน คือต้องมีเวลาที่ดีมีคุณภาพกับเด็ก เด็กจึงจะฟังเราและยอมทำตาม
พ่อแม่หลายท่านยังไม่ทราบว่าการเล่นกับลูกก็ช่วยส่งเสริมพัฒนาการลูกได้ และหลายคนก็ยังไม่ทราบว่าเล่นยังไง ต้องเล่นอะไร ซึ่งคุณหมอก็มีกิจกรรมตัวอย่างให้เห็นภาพและทำตามไม่ยาก เช่น เกมส์ง่าย ๆ ให้ลองไปทำต่อที่บ้าน เกมส์ตัวเลข เกมส์ทายคำศัพท์ ลูกโป่งน้ำอ่านภาษา เป็นต้น
จากอุปสรรค สู่ แรงบันดาลใจ
หลัก ๆ แล้ว โปรเจ็กต์ Love to Read เริ่มต้นจากสองพื้นที่คือ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นชุมชนที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ทำงานในโรงงาน และจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นค่ายทหาร โดยแรกเริ่มคุณหมอมีไอเดียในการเข้าไปสอนคุณครูในศูนย์เด็กเล็กโดยตรง แล้วให้คุณครูไปสอนคุณพ่อคุณแม่ แต่เมื่อไปลงพื้นที่จริงกลับต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย อาทิ
คุณครูบางท่าน ยังไม่มั่นใจที่จะไปสอนพ่อแม่ด้วยตัวเอง หลายท่านไม่ได้จบด้านปฐมวัยมาโดยตรง ทำให้ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไร และยังมีภาระงานเอกสารที่ต้องจัดการอีกมาก
ครอบครัวและชุมชนยังไม่พร้อม ผู้ปกครองในบางครัวเรือนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน อ่านไทยได้บ้างไม่ได้บ้าง หากให้อาสาสมัครชุมชน (อสม.) มาช่วยอ่าน ก็ติดปัญหาว่าบ้านเรือนไกลกันเกินไป พ่อแม่บางกลุ่มทำงานโรงงานแทบไม่ได้อยู่กับลูก และฝากผู้สูงอายุในบ้านเลี้ยง เวลาให้การบ้านไป จึงไม่มีเวลาทำ
นอกจากนี้ ทรัพยากรศูนย์เด็กเล็กก็ยังไม่พร้อมเช่นกัน ของเล่น, หนังสือ, สื่อที่ควรมี ยังไม่มี
อุปสรรคเหล่านี้ทำให้คุณหมอต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เน้นเข้าไปสอนพ่อแม่โดยตรงแล้วให้คุณครูร่วมสังเกตการณ์ โดยได้ความร่วมมือจาก อบจ. และ อบต. ที่ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการให้กับศูนย์เด็กเล็ก และคุณพ่อคุณแม่ ให้มาร่วมอบรม ส่วนปีหน้า ทีมคุณหมอมองว่า จะให้คุณครูช่วยสอนและติดตามผลมากขึ้น โชคดีที่มีคุณพ่อคุณแม่หลายคนตั้งใจทำมาก ๆ และมีผู้ดูแลศูนย์เด็กเล็กบางศูนย์ที่เคยเป็นครูและใส่ใจเด็ก เพียงแต่อาจจะยังไม่รู้เทคนิคบางอย่าง พอคุณหมอเข้าไปจัดกิจกรรมก็เข้าใจมากขึ้น ทำให้มีครูเก่งที่สอนครูคนอื่นได้ รวมถึงได้นำนิทาน ของเล่นต่าง ๆ ไปแจกคุณพ่อคุณแม่ที่ศูนย์เด็กเล็ก ตอนนี้ที่สมุทรปราการพบว่าหลังไปทำกิจกรรม คุณครูชอบมาก อยากเข้ามามีส่วนร่วม และอยากทำต่อในปีหน้า
คุณหมอทีม Love To Read ยังคงมุ่งหน้าจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ในการอบรมให้ความรู้กับชุมชน พ่อแม่ คุณครู เพื่อให้เกิดการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านในเด็ก สร้างเป็นชุมชนต้นแบบ โดยตั้งเป้าเป็นโครงการ 5 ปี โครงการนี้ไม่ใช่เพียงแต่ช่วยเด็กเรื่องพัฒนาการด้านภาษาเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างนิสัยให้เด็กรักการอ่าน ช่วยให้เด็กโตขึ้นมีนิสัยใฝ่เรียนรู้ ศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งโลกสมัยใหม่นี้มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะ Life Long Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งทักษะการอ่าน จะช่วยกระตุ้นให้เด็กรู้จักเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เมื่อเราลงทุนให้ความสำคัญตั้งแต่เด็กปฐมวัยซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญมากที่สุดช่วงหนึ่ง ก็จะทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพในอนาคต
ตอนนี้ทางดิสรัปท์ และคุณหมอจากทีม Love To Read กำลังมองหา Partner/บริษัทเอกชน ที่ต้องการจัด Parent Management Training เพื่อเป็น Benefit ให้กับพนักงาน ส่งเสริมการใช้เวลาคุณภาพในครอบครัว และส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ และการฝึกวินัยเชิงบวกให้กับเด็ก ๆ สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ Line @disruptignite หรือ yui@disruptignite.com