Social Impact Assessment (SIA) การประเมินผลลัพธ์ทางสังคม ขั้นตอนสำคัญเพื่อสร้าง Social Enterprise ที่ยั่งยืน
Social Impact Assessment
ขั้นตอนสำคัญเพื่อสร้าง Social Enterprise ที่ยั่งยืน
ธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) เกิดมาเพื่อแก้ปัญหา และสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าโครงการที่เราทำอยู่ นำไปสู่การเปลี่ยนเปลงได้จริงหรือไม่ เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการมากน้อยเพียงใด และจะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้สนับสนุนเห็นคุณค่าจากธุรกิจของเรา
ใน StormBreaker Batch 3 Bootcamp ครั้งที่ 1 สตาร์ทอัพและ SE ด้านการศึกษาทั้ง 7 ทีม ได้พบกับ คุณดาว ภัทราพร ยาร์บะระ Co-founder แห่งป่าสาละ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Social Impact Assessment (SIA) อันดับต้นของเมืองไทย ที่มาชวนทั้ง 7 ทีมวางแผนการวัดผลลัพธ์ทางสังคมกันตั้งแต่ก่อนจะเริ่มโครงการ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญของการทำ SE แต่กลับมักถูกมองข้าม จน SE รุ่นพี่หลาย ๆ ทีมกล่าวไว้ว่า “รู้แบบนี้วางแผน Social Impact Assessment ให้ดีตั้งแต่แรกดีกว่า”
ผลลัพธ์ทางสังคมคืออะไร?
ผลลัพธ์ทางสังคม หรือ Social Impact คือ คุณค่าทางสังคมที่เกิดจากการดำเนินโครงการหรือกิจการของเรา โดยแนวคิดง่าย ๆ คือ “ถ้าไม่มีเรา ผลลัพธ์หรือการเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่เกิดขึ้น”
การวัดผลลัพธ์ทางสังคมแตกต่างจากการวัดผลลัพธ์ทางธุรกิจ โดยเน้นไปที่ตัวชี้วัดที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงในการแก้ปัญหา เช่น กิจกรรมของเราทำให้เด็กได้รับโอกาสเข้าเรียนในระดับสูงมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งต่างจากผลลัพธ์ทางธุรกิจที่อาจอยากวัดว่า กิจกรรมนี้ทำให้คนซื้อผลิตภัณฑ์ของเรามากขึ้นหรือไม่ หรือส่งผลให้เพิ่มยอดขายเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่
ทำไมต้องวางแผนการประเมินตั้งแต่เริ่มต้น?
ขั้นตอนของการประเมิน จะนำให้ทีมได้ลองตอบคำถามว่า “การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่อยากเห็นเป็นอย่างไร” และ “เราจะวัดได้อย่างไร” ซึ่งถ้าตอบคำถามเหล่านี้ได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มลงมือทำ กิจการนั้น ๆ จะได้รับประโยชน์มากมายที่จะช่วยให้ดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน
- สมาชิกในทีมมีเป้าหมายเดียวกันตั้งแต่ต้น ทีมจะเห็นภาพผลลัพธ์สุดท้ายที่ตรงกัน เข้าใจว่าเป้าหมายใดคือเป้าหมายหลัก เป้าหมายใดเป็นรอง ป้องกันปัญหาความคิดเห็นไม่ตรงกันที่จะตามมา และทำให้สามารถจัดการวางแผน resources ที่มีจำกัดให้เหมาะสม
- ยืนยันว่าผลลัพธ์สอดคล้องกับความต้องการของ stakeholders ได้แก่ กลุ่มผู้ประสบปัญหาโดยตรง กลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ที่จะมาให้การสนับสนุน หากเราพบว่าเรากำลังเข้าใจผิดหรือได้มุมมองใหม่ ๆ มา จะได้ปรับแนวคิดกันตั้งแต่ก่อนเริ่มลงมือ
- หลีกเลี่ยงการทำงานซ้ำซ้อน หากเป้าหมายผลลัพธ์ของเราชัดเจน เราจะเริ่มเห็นว่ามีองค์กรใดบ้างที่มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานซ้ำซ้อน หรือหาแนวทางการร่วมมือเพื่อให้แก้ปัญหาได้มากขึ้นอีกด้วย
- รู้ว่าควรปรับปรุงแผนการดำเนินงานอย่างไร หากเราไม่ได้วัดผลตอนเริ่มต้นไว้ หรือเผลอไปวัดตัวชี้วัดที่ไม่สำคัญ ก็จะไม่ทราบเลยว่าที่ทำไป 1 เดือน หรือ 1 ปี ได้ผลหรือไม่ การมีตัวชี้วัดที่เหมาะสมตั้งแต่แรก จะทำให้สามารถนำมาวิเคราะห์ ปรับปรุง พัฒนาแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ได้
- สื่อสารเพื่อขอความร่วมมือและความสนับสนุนได้ง่ายขึ้น กิจการที่บอกได้ว่าผลลัพธ์ทางสังคมของตนคืออะไร เปรียบเทียบสถานการณ์ before & after ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนได้ จะมีโอกาสได้รับความร่วมมือจากคนทั่วไป หน่วยงาน sponsor หรือนักลงทุน มากกว่ากิจการอื่น ๆ เพราะมีหลักฐานว่าเรากำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงจริง และคุ้มค่ากว่าทางเลือกอื่่น ๆ ในการแก้ปัญหาเดียวกัน ซึ่งจากประสบการณ์ ทีมส่วนมากมักลงมือทำโดยไม่ได้เก็บข้อมูล “before” ไว้ ทำให้ไม่มีตัวเปรียบเทียบ และพูดได้ไม่เต็มปากว่ากิจการมี impact จริง
เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการตอบคำถาม 3 ข้อ
คนส่วนใหญ่ เมื่อต้องการวัดผลลัพธ์ทางสังคม จะมุ่งไปที่การคิดถึงตัวชี้วัดทันที แต่จริง ๆ แล้วควรเริ่มจากการตอบคำถาม 3 สำคัญที่ช่วยให้ทุกคนในทีมเห็นภาพเดียวกันก่อน
- ปัญหาสังคมที่คุณต้องการแก้ไขคืออะไร ปัญหามีมากมาย แต่ไม่ใช่ปัญหาสังคมทั้งหมด เช่น “ปัญหานักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา” อันนี้ทุกคนเห็นด้วยว่าเป็นปัญหาสังคมแน่นอน แต่ถ้ายกมาว่า “ปัญหาครูขาดสื่อการสอนที่ทันสมัย” อาจยังต้องคิดต่อ ว่า “แล้วไงต่อ” ปัญหานี้นำไปสู่อะไร แล้วปัญหาที่แท้จริงที่เราอยากแก้คืออะไร
- ใคร คือ คนที่คุณอยากแก้ปัญหาให้ ถึงแม้ปัญหาอาจมีผู้ที่ได้รับผลกระทบหลายส่วน ให้ลองนึกถึง กลุ่มที่สำคัญที่สุด อาจเป็นคนที่เราคิดว่ากำลัง in pain ที่สุด หรือคนที่เราเข้าใจเขาที่สุดก็ได้
- คุณจะรู้ได้ยังไงว่าปัญหาสังคมที่ว่าบรรเทาลง หรือหมดไปแล้ว การสร้างผลลัพธ์ทางสังคม คือการสร้างความเปลี่่ยนแปลง จะรู้ได้อย่างไรว่า change นั้นเกิดขึ้นแล้ว?
ขั้นตอนการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม
มีทั้งหมด 7 ขั้นตอน แต่สำหรับ SE ที่เพิ่งเริ่มต้น แค่เข้าใจข้อ 1-4 ก่อนก็เพียงพอแล้ว
1. Stakeholders analysis
วิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งคนที่ช่วยสร้าง impact คนที่ได้รับ impact และคนที่บอกได้ถึงการเปลี่ยนแปลง เช่น ในเด็ก คือ พ่อแม่ คุณครู เพื่อเข้าใจว่าการวัดผลของเราต้องได้รับความคิดเห็นหรือความร่วมมือจากฝ่ายใดบ้าง
2. Theory of change
หรือ ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง เป็นความเชื่อตั้งต้นของทีมว่า “ถ้าเราทำให้เกิด X แล้ว… Y หรือ การเปลี่ยนแปลงที่คาดหวัง ก็จะเกิดขึ้นด้วย” ควรเป็นประโยคสั้น ๆ ที่คนนอกสามารถอ่านแล้วต้องเข้าใจทันทีว่าเราทำอะไรไปเพื่ออะไร เช่น
“ถ้านักเรียนที่ยากจนในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลเข้าถึงองค์ความรู้และสื่อการเรียนที่ดีขึ้นแล้ว นักเรียนจะมีผลการเรียนดีขึ้นและเรียนต่อในระดับสูงขึ้นเพิ่มขึ้น”
ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงเป็นเพียงความเชื่อแรกเริ่มของทีม จึงไม่มีถูกผิด เพียงแต่ต้องนำไปพิสูจน์ผ่านการลงมือทำและวัดผล ว่าทฤษฎีเป็นไปตามที่เราคิดหรือไม่ และสามารถกลับมาปรับเปลี่ยนได้
3. Impact Value Chain
framework ที่ช่วยให้มองเห็นภาพรวมที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง
ข้อแนะนำ:
- นิยมเขียนจากหลังมาหน้า คือ เริ่มที่เป้าหมายผลลัพธ์ทางสังคมระยะยาวที่อยากเห็น แล้วคิดถอยมาว่าจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร
- ระหว่างลงมือทำ อาจได้มุมมองใหม่ ๆ สามารถกลับมาปรับเปลี่ยนแต่ละข้อได้ แต่ long term outcome หรือ ผลลัพธ์สุดท้าย ไม่ควรเปลี่ยน เพราะเราควรมีเป้าหมายที่แน่นอนตั้งแต่แรก
ข้อควรระวัง:
- ในระยะเริ่มต้น ไม่ควรมี long term outcome เกิน 3 ข้อ จะทำให้หลุด focus
- ไม่ควรใส่ผลลัพธ์ที่ไม่ได้มาจาก actiivty ของเรา
4. Social Impact Indicators
การตั้งตัวชี้วัด โดยเก็บข้อมูลก่อน-หลังมาเปรียบเทียบ ควรสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็น ตัวชี้วัดที่ดีควรมีคุณลักษณะแบบ SMART Indicator คือ Specific, Measurable, Achievable, Relevant และ Time-bound เช่น เด็กในชุมชนหลุดออกนอกระบบน้อยลง วัดจาก เปอร์เซนต์ของเด็กในชุมชนที่เรียนต่อในระดับมัธยามศึกษามากขึ้น เพิ่มจาก 60% เป็น 65% ภายใน 1 ปี
ข้อควรระวัง:
- ไม่ควรเริ่มจากการลอก indicator จากหน่วยงานอื่นหรือต่างประเทศ เพราะบริบทอาจไม่เหมือนกัน และอาจทำให้สับสนมากขึ้น
- ความพึงพอใจ, เวลา, ความถี่ ที่ใช้ platform - indicator เหล่านี้เอามาปรับปรุงการดำเนินงานได้ แต่ไม่ได้บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
- วิธีเก็บข้อมูลช่วงเริ่มต้น สามารถถามจากกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรม ยังไม่จำเป็นต้องไปดึงข้อมูลความเปลี่ยนแปลงจากกระทรวงหรือระดับประเทศมา เพราะจะหลุด scope ที่เราทำงานด้วย
Resource เพิ่มเติมเพื่อช่วยหาตัวชี้วัด IRIS ฐานข้อมูลตัวชี้วัดจากทั่วโลก หรือ Social Impact Explorer ของ NIA ช่วยคิดตัวชี้วัดผ่านการทำแบบทดสอบ
สุดท้ายนี้ วิธีการวัดผลลัพธ์ทางสังคมอาจทำได้หลายแนวทาง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการที่ทีมมีเป้าหมายที่ชัดเจนและตรงกัน ว่าเรากำลังแก้ปัญหาอะไร ให้ใคร และให้ความสำคัญกับการวัดผลช่วงก่อน-หลังการทำงานอย่างต่อเนื่อง หากทำได้ ก็จะทำให้ตัวเราและคนภายนอกเห็นคุณค่าจากสิ่งที่เราทำได้อย่างชัดเจน
อ่านรายงานฉบับสมบูรณ์ของป่าสาละได้ที่นี่
ติดตามข่าวสารความรู้ในวงการสตาร์ทอัพได้ทางเพจ Disrupt Technology Venture และพบกันที่งาน Education Disruption Conference 2020: Reimagine Thailand’s Education 2030, Virtual Conference ที่จะพาทุกคนมาเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของการศึกษาไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น ผ่านบทสัมภาษณ์สุด exclusive จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมากมาย พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ EdTech Startups และ Social Entrepreneurs ที่ประสบความสำเร็จจากทั่วโลก ลงทะเบียนได้แล้ววันนี้ ที่นี่