Patch Rawanghet
Business Development & Chief Exponential Officer Program Manager
ในเมืองไทย หากกล่าวถึงคำว่า ‘Coaching’ คนส่วนใหญ่ล้วนนึกถึง “Life Coach” ซึ่งหลายคนอาจมีความรู้สึกเชิงลบกับคำนี้ แต่ในความเป็นจริง Coaching หรือการโค้ช แตกต่างจากภาพที่หลายคนเข้าใจ และเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ผู้บริหารระดับสูงหรือผู้นำระดับโลกใช้เพื่อต่อยอดความสำเร็จของตนเอง
“Everyone needs a coach. It doesn’t matter if you are a basketball player, a tennis player, a gymnast, or a bridge player.”
และนี่เป็นประโยคที่ Bill Gates อดีต CEO ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ได้กล่าวไว้
ทั้ง Bill Gates (Microsoft), Eric Schmidt (Google) และ Steve Jobs (Apple) ที่เคยสร้างการเติบโตให้กับบริษัทจนกลายเป็นบริษัทระดับโลก ล้วนแล้วแต่มี Coach เป็นของตนเอง โดย Coach นั้นไม่ใช่คนที่คอยบอกว่า แต่ละคนควรทำอะไร แต่ Coach นั้นจะคอยเป็นกระจกเพื่อให้มองเห็นจุดเด่นจุดด้อยและแรงผลักดันของตนเอง คอยช่วยดูความคืบหน้า และ promote accountability เพราะทุกคนนั้นต่างมีจุดบอด แม้แต่บุคคลที่คนภายนอกมองว่าประสบความสำเร็จแล้วก็ตาม หากต้องการจะพัฒนาเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายใหม่ ๆ ที่ท้าทาย การมี Coach จึงเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญ
ไม่เพียงแต่ผู้นำในบริษัทต่างประเทศเท่านั้นที่มีการใช้ Coaching เป็นเครื่องมือ แต่ Coaching เริ่มมีการใช้แพร่หลายมากขึ้นในประเทศไทย แม้แต่คุณกระทิง พูนผล เจ้าพ่อสตาร์ทอัพไทย ยังมี Executive Coach ที่ช่วยให้คุณกระทิงได้เห็นมุมมองของตัวเองที่หลากหลายขึ้น เปิดรับความท้าทายใหม่ ๆ พัฒนาความสัมพันธ์รอบตัว และทลายกำแพงที่เคยตั้งไว้ เพื่อไปแตะเป้าหมายที่ตั้งใจไว้อีกขั้น คุณกระทิงมองว่าหัวใจสำคัญในการจะประสบความสำเร็จในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและไม่มีที่สิ้นสุดนั้น เริ่มต้นที่ ”ตัวเรา” เราต้องพร้อมที่จะปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ ไม่ยึดติดกับสิ่งเดิม รูปแบบเดิมที่เคยทำ เพราะว่าสิ่งที่เคยสำเร็จในอดีต อาจจะเป็นหายนะในวันข้างหน้า “Success recipe could become recipe for disaster.” เราจะเปลี่ยนตัวเองได้ยาก หากเรายังไม่ยอมรับในตัวเรา หรือยังไม่เห็นตัวเราในทุกแง่มุม เมื่อเราได้เห็น limitation ของตัวเอง จะสามารถพาให้เราพุ่งชนและพัฒนาจุดนั้นเพื่อเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
หลายครั้งคนมองว่าแค่มี Mentor คงพอ เพราะคงไม่แตกต่างจากการมี Coach เท่าไหร่ ซึ่งสำหรับบางคนอาจเพียงพอ แต่บางคนอาจต้องการ Coach ในช่วงหนึ่งของชีวิต เนื่องจากสองหน้าที่นี้มีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน
เพื่อให้เข้าใจความแตกต่างของ Coaching และ Mentoring มากขึ้น ขอเปรียบเทียบให้เห็นใน TAPS Model (Tell, Ask, Problem, Solution) โดยจะนำ Coaching, Mentoring, Counseling, และ Consulting มาเปรียบเทียบกัน ในเชิงทฤษฎี 4 อย่างนี้มีความคล้ายคลึงกัน คือการมีเป้าหมายที่อยากบรรลุ และหาตัวช่วยข้างนอกในการไปถึงเป้าหมาย แต่ในทางปฏิบัตินั้นจะมีจุดโฟกัสและวิธีการที่แตกต่างกันไป โดย Counseling และ Consulting จะโฟกัสไปที่ปัญหา ในขณะที่ Coaching และ Mentoring จะให้ความสำคัญกับทางออกมากกว่า
ส่วนความแตกต่างของ Coaching และ Mentoring คือ Coaching จะเน้นที่การถาม ผู้โค้ชจะไม่นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาให้ เนื่องจากผู้โค้ชมีความเชื่อว่าบุคคลที่มาโค้ชหรือลูกค้านั้นมีศักยภาพในตัวเองและสามารถหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง ผู้โค้ชจะทำหน้าที่เป็นเพียงกระจกเพื่อให้ลูกค้าเห็นมุมมองที่กว้างขึ้น ในขณะที่ Mentor นั้น จะใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาในการช่วยแนะแนวทางให้กับ Mentee โดยตรง
บุคคลที่สามารถมาเป็น Consult หรือ Mentor จึงจำเป็นต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านนั้น ๆ ต้องอาบน้ำร้อนมาก่อน เคยผ่านสมรภูมิรบมาก่อน หรือมีความรู้มากพอที่จะให้คำแนะนำแก่ลูกค้า ในขณะที่ Coach หรือ Counsel/Therapist นั้นไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ในด้านที่ลูกค้าต้องการคำแนะนำ แต่จำเป็นต้องมี skill ในการตั้งคำถาม รับฟัง และสะท้อนในสิ่งที่ได้ยินเพื่อแก้ปัญหาหรือหาคำตอบ ดังนั้นแต่ละเซอร์วิส แม้จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่สิ่งที่ได้รับนั้นแตกต่างกัน ก่อนจะเลือกใช้บริการไหน ควรมีความเข้าใจที่ชัดเจนเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ที่สูงสุด
เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจความแตกต่างของ Coaching มากขึ้น ให้นึกถึง Coach ในกีฬาต่าง ๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการนำคำว่า “Coach” มาใช้ในธุรกิจ โดย Coach ที่ดีจะมีหน้าที่ในการดึงศักยภาพนักกีฬาในทีมออกมา เพื่อนำทีมไปสู่ชัยชนะ แต่ไม่ได้ลงไปเล่นในสนามด้วยตัวเอง เฉกเช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของ Coach และลูกค้าในเชิงธุรกิจ ที่ลูกค้านั้นมีอำนาจในการตัดสินใจในการเลือกรับฟังหรือตอบรับสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้เป็น Coach หยิบยื่นให้ ตัวลูกค้าหรือนักกีฬาต้องเปิดใจและเชื่อใจใน Coach ของตัวเอง แต่สุดท้ายคนที่ไปเผชิญหน้าอุปสรรคในเชิงธุรกิจหรือศัตรูบนสนามไม่ใช่ตัว Coach แต่เป็นตัวลูกค้าหรือนักกีฬาเอง
การเลือก Coach มีผลอย่างมากต่อผลลัพธ์ที่ต้องการ ในยุคนี้อาชีพ Coach เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ทั้ง Coach ที่มี Certification รับรอง และไม่มี เนื่องจากทักษะในการ Coaching เป็นทักษะที่เน้น soft-skill เช่น การตั้งคำถาม การรับฟัง และการเรียบเรียงสิ่งที่ได้ยิน ทั้งหมดล้วนเป็นทักษะที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้ในชีวิตประจำวัน นอกเหนือจากนั้น ผู้นำบางท่านยังได้นำทักษะ Coaching ไปใช้ในการดูแลลูกน้อง เพื่อให้ประสบความสำเร็จร่วมกัน ดังนั้นใครก็สามารถแต่งตั้งตัวเองขึ้นเป็น Coach ที่เก่งได้ ถึงแม้จะไม่มี certification รับรอง หัวใจสำคัญใน Coaching คือ “จรรยาบรรณ” ที่จะไม่เผยแพร่สิ่งที่ได้รับฟังหรือได้ยินมาจากลูกค้าเผยแพร่ให้ผู้อื่น Coach ที่ผ่านมี Certification เช่น Coach ที่ได้รับการรับรองจาก International Coaching Federation (ICF) จำเป็นต้องดำเนินการตาม ICF Code of Ethics ดังนั้นปัจจัยนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
แต่ท้ายที่สุดการเลือก Coach คือการเลือกบุคคลที่ลูกค้าเชื่อว่าจะสามารถนำพาเราไปถึงเป้าหมายได้ เลือกคนที่เราต้องเชื่อใจและยอมเปิดใจให้ โดยทางที่ดีควรมีการทดลองพูดคุยทำความรู้จักกันก่อนเพื่อดูว่าเคมีตรงกันหรือไม่ ลูกค้านั้นมองหาผลลัพธ์แบบไหน และต้องการให้ Coach มีบทบาทหน้าที่อย่างไร รูปแบบการ Coaching ของ Coach แต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน แต่ละคนจะมี tools และวิธีการตั้งคำถามที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นหากคุณกำลังมองหา Coach ให้เลือกคนที่คุณเชื่อใจและพร้อมรับฟัง
หากคุณเป็นหัวหน้าหรือนักธุรกิจที่อยากพัฒนาธุรกิจของตัวเองอย่างก้าวกระโดดในยุคนี้ สิ่งสำคัญคือการเข้าใจว่าสิ่งที่เรากำลังขาดคืออะไร และหาจุดนั้นมาเติมเต็ม หากคุณเป็นผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจและยังไม่แน่ชัดในแนวทาง การมี Mentor เพื่อแนะแนวและตักเตือนในสิ่งที่อาจทำให้ผิดพลาดเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเติบโต หากคุณอยู่ในจุดที่บริษัทกำลังเติบโต แต่มีปัญหาที่แก้ไม่ตก Consult อาจะเป็นคำตอบที่คุณมองหา
แต่หากคุณเป็นผู้นำในองค์กรที่ต้องการขยายขีดจำกัดของตัวเอง และต้องการผู้ช่วยในการเดินทางไปในทางที่ไม่เคยเดิน Coaching อาจจะเป็นคำตอบ..