Pat Thitipattakul
Corporate Innovation Manager
Soft skills ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นพื้นฐานสำคัญในการเอาตัวรอดในโลกอนาคต เป็นทักษะที่ได้ใช้มากที่สุดในการทำงานและในชีวิตประจำวัน แต่กลับกลายทักษะที่มักถูกมองข้ามในโลกของการศึกษา สถานศึกษาทราบดีถึงความสำคัญของทักษะเหล่านี้ แต่ยังขาดแนวทางการสอนและวิธีการวัดผล ต่างจากความรู้ Hard skills ที่คุณครูสามารถอ้างอิงจากหลักสูตรและสามารถใช้ข้อสอบในการวัดผลได้
ไม่ใช่แค่ภาคการศึกษาเท่านั้น การวัดผล Soft skills เป็นความท้าทายที่หลายภาคส่วนต้องการก้าวข้าม องค์กรเองก็ต้องการแนวทางในการประเมินทักษะพนักงานและผู้สมัครงาน ในส่วนของภาครัฐเองก็ต้องการส่งเสริมทักษะแห่งอนาคต 4C (Creativity, Critical Thinking, Collaboration, Communication) ให้บุคลากรไทย สิ่งเหล่านี้คือทักษะที่จะทำให้มนุษย์รอดพ้นจากการถูกหุ่นยนต์แย่งงานได้ ในงานวิจัยของ GTCI ซึ่งได้ทำการประเมินคุณภาพของ talent ในแต่ละประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับได้ที่ 67 เมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียงอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์แล้ว ไทยยังตามหลังอยู่มาก ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนา talent ไทย...
เราจะสามารถตัดสินความสามารถของคน 1 คนจากเพียงแค่เกรด ผลสอบ และ Resume / CV ได้จริงหรือ? คนที่สอบได้คะแนนไม่ดี ไม่ได้แปลว่าเขาไม่เก่ง เขาอาจจะมีทักษะอย่างอื่นที่ถูกมองข้ามก็เป็นได้ เช่น สามารถสื่อสารนำเสนอได้ดี จูงใจผู้ฟังได้ ทักษะนี้สำคัญมากในโลกของการทำงาน แต่ไม่เคยถูกวัดผลแสดงออกมา การที่เขาได้เกรดไม่สูง ทำให้เขาอาจพลาดโอกาสหลาย ๆ อย่างในชีวิตไป เพราะถูกตัดสินไปแล้วจากผลการเรียนที่สู้คนอื่นไม่ได้ ในทางกลับกัน คนที่เรียนได้เกรดดี อาจเป็นเพราะจำเนื้อหาเก่งทำให้สอบได้คะแนนดีก็ได้ ไม่ได้แปลว่าสามารถคิดวิเคราะห์เนื้อหาได้เสมอไป
หมดยุคใช้ข้อสอบวัดเพียงอย่างเดียวในการวัดผลแล้ว ตอนนี้โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บริษัทสมัยใหม่ต้องการคนที่เรียนรู้ไว สามารถทำงานได้หลากหลาย ไม่ยึดติดกับใบปริญญาอีกต่อไป บทบาทของภาคการศึกษาเองก็จำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วย เพราะความรู้ในห้องเรียนอาจ expire ไปแล้วเมื่อเรียนจบ ไม่สามารถยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนมาได้ ทุกคนต้องพร้อมเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา แทนที่จะเน้นการถ่ายทอดความรู้เพียงอย่างเดียว สถานศึกษาควรต้องเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับกระบวนการการสร้างเสริมทักษะ 4C
seen by BASE Playhouse พร้อมแล้วที่จะมาช่วยปลดล็อคศักยภาพให้คนไทยได้มองเห็นทักษะของตัวเองที่แท้จริง จุดเริ่มต้นของ seen ต่อยอดมาจาก BASE Playhouse ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งพัฒนาทักษะ Soft skills ให้กับนักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงพนักงานองค์กร ผ่านกระบวนการสุด creative ที่ทีมงานได้ออกแบบกันด้วยความตั้งใจ เช่น การจำลองสถานการณ์ธุรกิจ การเรียนรู้ผ่านบอร์ดเกม มีการทำงานร่วมกับโรงเรียนเพื่อออกแบบวิธีการสอนรูปแบบใหม่ ๆ ร่วมกัน
จากประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำ คลุกคลีอยู่กับการพัฒนาทักษะ Soft skills อยู่เป็นเวลาหลายปี ทางทีมได้เริ่มเห็นอีกปัญหาแล้วว่าการวัดผลเป็นอีกประเด็นที่สำคัญทั้งสำหรับผู้สอนเองแล้วก็ผู้เรียน ผู้สอนเมื่อได้สอนไปแล้วก็ต้องการติดตามผล อยากรู้ว่านักเรียนแต่ละคนพัฒนาไปได้ถึงไหนแล้ว เพราะการพัฒนาทักษะ Soft skills อาจเกิดขึ้นนอกห้องเรียนก็ได้ อาจเกิดจากการทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ นอกห้องเรียน หรือ การไปเข้าร่วมงานสัมมนาอื่น ๆ จะทำอย่างไรจึงจะสามารถติดตามข้อมูลเหล่านี้ได้? ในส่วนของผู้เรียนเอง ก็ไม่ทราบว่า ณ ปัจจุบันทักษะแต่ละด้านอยู่ในระดับไหนแล้ว ทักษะอะไรที่ยังต้องพัฒนาเพิ่ม?
BASE Playhouse จึงเกิดไอเดียพัฒนาแพลตฟอร์ม seen ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือดิจิทัลประเมินทักษะ Soft skills ช่วยให้ทุกคนมองเห็นทักษะที่ซ่อนอยู่ กลไกการประเมินได้ถูกออกแบบอย่างพิถีพิถันโดยถอดบทเรียนจากประสบการณ์พัฒนา Soft skills ที่ผ่านมาของ BASE Playhouse โดยเน้นการประเมินใน 4 เรื่องตามทักษะ 4C ได้แก่ Creativity, Critical Thinking, Collaboration, Communication
นอกจากการประเมินนักเรียนแล้ว seen ยังสามารถเป็นผู้ช่วย HR ในการคัดเลือกบุคลากรทีเหมาะสมกับองค์กรได้ด้วย โดย HR สามารถเลือกใช้จากแบบประเมินที่ทาง BASE Playhouse ได้สร้างไว้อยู่แล้ว หรือจะเข้ามาสร้างแบบทดสอบ challenge 4C ในโจทย์ที่เฉพาะเจาะจงขององค์กรของตนเองไว้บนแพลตฟอร์มแล้วเปิดให้ผู้สมัครหรือคนทั่วไปเข้ามาทำก็ได้ เช่น หากองค์กรให้ความสำคัญกับ Collaboration อาจมาสร้างโจทย์จำลองสถานการณ์จริงในการทำงานเป็นทีมในองค์กร จำลองปัญหามักที่เกิดขึ้นในทีม โดยทาง BASE Playhouse จะมี guide ในการสร้างโจทย์ไว้ให้ เพื่อให้ทางองค์กรเข้ามา publish ได้แบบไม่ยาก
เครื่องมือนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ HR ได้มาก โดยเฉพาะในกลุ่มงานที่ต้องใช้ Soft skills สูง และมีผู้สมัครเยอะ เช่น งานขาย งานบริการลูกค้า ซึ่งการสัมภาษณ์ใช้เวลานานและเวลาของ HR มีจำกัด หากคัดกรองจากแพลตฟอร์มก่อน ก็จะช่วยประหยัดเวลาให้ HR ได้และได้ข้อมูลของผู้สมัครในมิติอื่น ๆ นอกเหนือไปจาก Resume / CV และผลการเรียน
BASE Playhouse เชื่อว่าทุกคนมีความแตกต่าง จึงไม่สามารถใช้การวัดผลรูปแบบเดียวมาวัดทุกคนได้ จำเป็นต้องมีการประเมินในหลากหลายมิติ ทีมอยากเห็นสังคมที่วัดกันด้วยความสามารถของแต่ละคนอย่างแท้จริง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนา talent ไทยได้อย่างเต็มศักยภาพและเป็นสังคมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ seen จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสถานศึกษาไทยปรับตัวในยุคดิจิทัล
ที่ผ่านมาการพัฒนา Soft skills ในไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก สังเกตได้จากการที่เด็กโรงเรียนอินเตอร์มักจะมีทักษะการสื่อสารที่ดีกว่าเด็กโรงเรียนไทยอยู่มาก BASE Playhouse ต้องการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาจุดนี้ด้วย โดยในปีนี้ได้ทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อพัฒนาเครื่องมือและสื่อการเรียนรู้ Soft skills มอบให้กับโรงเรียนอาชีวะ เครื่องมือเหล่านี้ไม่จำกัดว่าต้องเป็นรูปแบบดิจิทัลเสมอไป ทาง BASE Playhouse สามารถออกแบบสื่อรูปแบบออฟไลน์ให้น่าสนใจได้ด้วย เพื่อให้เข้าถึงนักเรียนได้ทุกกลุ่ม ลดความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ในการสร้างทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้กับนักเรียนในชุมชนต่าง ๆ เพื่อสร้างอาชีพ เรียนรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างธุรกิจในชุมชน สร้างทักษะที่จำเป็นในการทำงาน และต่อยอดไปจนถึงการพัฒนาชุมชน
สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความตั้งใจของทีมงาน BASE Playhouse ที่ว่า “เด็กทุกคนมีศักยภาพซ่อนอยู่ในตัว หากได้รับการผลักดันและโค้ชอย่างถูกวิธี เด็กเหล่านี้จะก้าวทันทุกกระแสในโลก และพร้อมที่จะใช้ศักยภาพที่มีเก็บเกี่ยวโอกาสที่โลกหมุนมาให้ได้อย่างครบถ้วน มีความสุขและประสบความสำเร็จได้ในสิ่งที่ทำและสิ่งที่รัก” นี่คือกุญแจสำคัญในการพัฒนา talent ไทย!