เยาวชนไทยกับศักยภาพที่ขาดหายไป

December 21, 2020
Noon Ananya

วิชานอกเส้น เป็น แฟลตฟอร์มที่เปิดพื้นที่ให้กับเยาวชน ที่มีความสามารถนอกเหนือจากความรู้ทางด้านวิชาการ แต่ขาดโอกาส และ ไม่มีพื้นที่กับพวกเขาได้แบ่งปันเรื่องราวดี ๆ เปิดโอกาสสู่ช่องทางในการประกอบอาชีพและการหารายได้ในอนาคต

www.facebook.com/ViChaNorkSen

โครงการนี้ถูกก่อตั้งขึ้นมาจากเยาวชนทั้ง 3 คน ได้แก่ นัชชา ทองธราดล (แอม), ธนพล อรุณศิริ (แบ๊งค์), ธงไชย หันวรวงศ์ (บูม) ที่มีความมุ่งมั่นอยากจะทำสื่อที่เปิดโอกาสให้กับทุกคนได้มีพื้นที่การเรียนรู้ของตัวเอง ด้วยการทำเพจเพื่อสื่อสารกับเยาวชน จนกระทั่งทุกวันนี้สามารถสร้างอาชีพและงานด้วย Facebook Page ที่มียอดวิวรวมมากกว่า 2 ล้านวิว

การศึกษาไทยจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องหยุดอยู่แค่ในห้องเรียน

แอม, บูม, แบ๊งค์

ครั้งแรกที่ได้รับรู้ว่า founder ทั้ง 3 คนของเพจวิชานอกเส้นที่มียอดวิวกว่า 2 ล้านวิวเป็นเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ผู้ใหญ่ต่างก็รู้สึกแปลกใจและชื่นชมในเวลาเดียวกัน แต่ใครจะรู้ว่า จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งเพจนี้น่าสนใจยิ่งกว่ามาก

ทั้ง 3 คนเริ่มต้นโครงการวิชานอกเส้นจากการรวมตัวกันของเพื่อนสนิทเพื่อเข้าแข่งขันโครงการของวัดแห่งหนึ่ง โดยโจทย์ของการแข่งขันคือการสร้างสื่อน้ำดี เพื่อให้เยาวชน คิดดี ทำดี พูดดี เป็นบุคลากรที่ดีในสังคม ใครจะรู้ว่าจากจุดเล็ก ๆ เพียงแค่นี้ ทั้ง 3 คนได้มีความความตั้งใจอยากจะเปลี่ยนแปลงการศึกษา จึงได้นำสิ่งที่ตัวเองอยากทำมาเชื่อมโยงกัน

“พวกเราได้มีประสบการณ์เปิดคลาสเรียนให้กับเด็ก ๆ มาก่อน แต่กลับเห็นปัญหาตรงที่ว่า ทุกคนล้วนแล้วแต่สอนวิชาการ ที่ไม่ได้นำไปสู่ประสบการณ์ในการพัฒนาตัวเองได้เท่าที่ควร เลยพยายามที่จะสร้างการเรียนรู้ที่ประกอบไปด้วย วิชาการ และวิชาประสบการณ์ เกิดเป็นวิชาชีวิตที่แท้จริงให้กับทุกคน ซึ่งเราเชื่อว่า มันจะทำให้คนสามารถ คิดดี ทำดี พูดดี เป็นบุคคลากรที่ดีได้อย่างแท้จริง”

จากความตั้งใจตรงนี้ ทีมผู้ก่อตั้งจึงได้สร้างสื่อเพจ วิชานอกเส้น ขึ้นมา โดยมีไอเดียที่อยากจะเป็นสื่อกลาง บอกเล่าเรื่องราวของคนที่ได้ผ่านวิชาชีวิตมามาก

ความท้าทายในการเป็นกระบอกเสียงเล่าเรื่องให้กับเยาวชนรุ่นใหม่

ความตั้งใจของทีมนั้นคงไม่เป็นที่น่าสงสัยอย่างแน่นอน แต่พอเริ่มต้นลงมือทำจริง กลับไม่ง่ายอย่างนั้น ระหว่างทาง ทีมได้เจอกับความท้าทายต่าง ๆ มากมาย

ปัญหาแรกที่ทีมเจอ คือความถี่และปริมาณของสื่อที่ต้องถูกผลิตออกมาในรูปแบบของโพส และวีดีโอต่าง ๆ แต่ด้วยเวลาที่ค่อนข้างจำกัด ประกอบกับภาระหน้าที่ในการเรียนของแต่ละคนทำให้เกิดเป็นความท้าทายอย่างมาก

“การสร้างคอนเทนต์ ต้องลงโพสต์ ลงวีดีโอ ลงสื่อทุกวัน เพื่อให้ได้ engagement มากพอ ถ้าจะเป็นสื่อที่ดี ตรงนี้ไม่สามารถลดหย่อนได้”

ทีมจึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงรูปแบบของคอนเทนต์ จากการสัมภาษณ์เพียงอย่างเดียว เป็นการสังเกตเรื่องราวของคนรอบข้าง และนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เช่น เมื่อวานนี้เราไปดูการแสดงเรื่องนี้มา ได้รับข้อคิดอะไรบ้าง วันก่อน เราไปเข้าร่วมโครงการสัมนามา สามารถเกิดการเรียนรู้อะไรได้บ้าง จากนั้นนำเรื่องต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนความคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ จนเกิดเป็นคอนเทนต์การเรียนรู้ต่าง ๆ มากมาย

“ถ้าจะมองว่าเรื่องที่เจอมา เป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ได้เรียนรู้อะไรจากมันก็คงจะเป็นแบบนั้น แต่ถ้าเราเอามาแลกเปลี่ยน เอามาเรียนรู้ เราจะเห็นว่า มันเป็นประสบการณ์ที่เราสามาถต่อยอดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด”

แน่นอนว่า การทำเช่นนี้ ทำให้ วิชานอกเส้น กลายเป็นสื่อที่ผลิตคอนเทนต์ใกล้ตัวให้กลายเป็นเนื้อหาที่น่าสนใจได้อย่างดี


ความสำเร็จในวันนี้

ความสำเร็จในวันนี้ของวิชานอกเส้นเป็นสิ่งที่จุดประกายแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นมากมาย ทีมไม่เพียงแค่หยุดมองชื่นชมความสำเร็จนี้เท่านั้น

ในอนาคตทีมวางแผนที่จะขยายโครงการเป็นค่ายทำกิจกรรมและให้ความรู้ เนื่องจากทีมมุ่งเน้นอยากจะเป็นสื่อที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน แต่ก็เล็งเห็นถึงโอกาสที่จะทำให้แรงบันดาลใจนี้ยั่งยืนได้มากขึ้น ไม่ใช่เป็นแค่การดูหรืออ่านเพียงแค่ครั้งเดียวแล้วก็หายไป

“ข้อดีของการทำเป็นค่าย คือ น้อง ๆ จะได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อนที่เข้าร่วมด้วยกัน การแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ ว่าเพื่อนเราก็ทำได้ เพื่อนเราก็คิดเหมือนกัน ก่อเกิดเป็นความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองและสังคม คำว่า idol ไม่จะเป็นต้องเป็นคนที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ เพราะบางทีมันก็เป็นเรื่องที่ไกลตัวเกินไป เพื่อนกันเองนี่แหละ ที่เป็นแหล่งของพลังงานด้านบวก แรงบันดาลใจที่ยั่งยืนที่สุด อาจจะตลอดชีวิตของเขาเลยก็ได้”

หากทำสำเร็จ เราอาจจะเห็นภาพของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เกาะกลุ่มกันแลกเปลี่ยนต่อยอดความคิด สร้างแรงขับเคลื่อนต่าง ๆ มากมายในอนาคต

ความเชื่อมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงการศึกษาด้วยแรงบันดาลใจ

การจุดประกายความฝันในวันนี้ อาจจะเป็นการเปลี่ยนชีวิตของเด็กคนหนึ่งในอนาคตก็ได้ นี่เป็นคำสัญญาที่วิชานอกเส้น ให้ไว้ว่าจะยังดำรงความเป็นสื่อน้ำดี ที่ถ่ายถอดเรื่องราว ก่อให้เกิดการกระตุ้น และแรงบันดาลใจการเรียนรู้พัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในรูปแบบใดก็ตาม เพราะเราเชื่อว่า การศึกษา ไม่ได้เป็นเพียงแค่การบ่มเพาะวิชาการ แต่รวมไปถึงการบ่มเพาะวิชาประสบการณ์ด้วยเช่นกัน

สามารถติดตามและดูรายละเอียดเพิ่มเติมของวิชานอกเส้นได้ที่เพจ วิชานอกเส้น

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง