ทัศนคติที่ดี (Positive Attitude) ปรับความคิด ชีวิตเปลี่ยน
ทัศนคติที่ดี (Positive Attitude) เป็นจุดเริ่มต้นของความสุข และการมองหาโอกาสในชีวิต ซึ่งนำไปสู่การมองหาความเป็นไปได้ และการมีมุมมองความคิดต่อปัญหา หรือประสบการณ์ในเชิงบวก กล่าวได้ว่าเป็นทัศนคติที่ช่วยทำให้เรามี Growth Mindset ได้มากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่ความพยายาม และการเรียนรู้จากประสบการณ์ คนที่มีทัศนคติที่ดีจึงมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จ หรือมีความสุขกับชีวิตมากกว่านั่นเอง
Highlight
- คนที่มีทัศนคติที่ดีมีแนวโน้มรับมือกับปัญหา และสถานการณ์ที่ท้าทายได้ดีกว่า เพราะมองหาโอกาสสม่ำเสมอ
- ทัศนคติที่ดี ไม่ใช่มองโลกในแง่บวก แบบโลกสวย แต่เป็นการมองโลกตามความเป็นจริง ยอมรับความจริง และสามารถอยู่บนพื้นฐานของความจริงโดยการตระหนักถึงความรู้สึกของตนเองได้
- ทัศนคติที่ดีไม่ได้ทำให้ปัญหาหายไป แต่ช่วยให้เราปรับมุมมองโดยโฟกัสหรือมุ่งเน้นไปที่โอกาส และความเป็นไปได้มากขึ้น
- ทัศนคติสร้างได้ด้วยการฝึกฝน ผ่านการฝึกสติ และการรู้จักที่จะเรียนรู้เพื่อปรับตัว
ทัศนคติที่ดีคือ การรู้สึก นึกคิดอย่างมีเหตุและผล โดยทัศนคติที่ดีไม่ได้หมายถึงเพียงการมองโลกในแง่บวกเท่านั้น แต่หมายถึงการมองโลกตามความเป็นจริง ทั้งในแง่บวกและลบ โดยเข้าใจมุมมองของสถานการณ์ผ่านเหตุผล และเมื่อมองได้ทั้งสองมุมผ่านการพิจารณาความจริงแล้ว ทัศนคติที่ดีจะทำให้เรามุ่งเน้นไปที่การมองหาโอกาสมากกว่าการหาผู้กล่าวโทษในสถานการณ์ที่กำลังย่ำแย่
นอกจากนั้นทัศนคติที่ดี ยังนำไปสู่การตั้งเป้าหมายที่ดีและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าหมายแบบ Smart Goal , อิคิไก หรือการตั้งเป้าหมายแบบอื่น ๆ สิ่งสำคัญสำหรับการตั้งเป้าหมายก็คือการที่เรามีมุมมองเชิงบวกบนพื้นฐานความเป็นจริงในชีวิต เราจะมองเห็นความเป็นไปได้ในมุมมองต่างๆ และสามารถตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย และเป็นเป้าหมายที่ให้พลังเราได้ดีในที่สุด
ในช่วงเวลาที่ท้าทาย และเผชิญสภาวะวิกฤต คนที่มีทัศนคติที่ดีต่อชีวิต ทั้งตัวเอง และกับคนรอบข้างมักสามารถเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นได้จากการปรับมุมมอง และผู้นำที่มีภาวะผู้นำส่วนใหญ่ก็จะต้องเริ่มจากการที่พวกเขามีทัศนคติที่ดีด้วย ซึ่งทัศนคติที่ดีมีคุณลักษณะดังนี้
- มี Self Awareness: คนที่มีทัศนคติที่ดีเริ่มต้นจากการมีการตระหนักรู้ในตนเอง ว่าตนเองต้องการอะไร มีเป้าหมายอย่างไร และที่สำคัญที่ ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราทำ โฟกัสกับเรื่องของคนอื่นน้อยกว่าเรื่องของตนเอง ซึ่งทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เลือกโฟกัสการมุ่งไปข้างหน้า และการทำความเข้าใจอารมณ์ของตนเองเป็นหลัก เมื่อเข้าใจตนเองแล้วจึงจะสามารถสร้างเปลี่ยนแปลงให้กับตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
- ยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น และมีความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นดีเสมอ: อีกลักษณะหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ข้ออื่นเลยคือการที่เราเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นดีเสมอ ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะน่ากลัวเพียงไร แต่เมื่อพิจารณาแล้วทุกการเปลี่ยนแปลงก็มีข้อดี อาจทำให้เราได้มองเห็นจุดบกพร่อง หรือได้ออกจาก Comfort Zone ทำให้เราได้พบเจอกับประสบการณ์ใหม่ ๆ
- ถอดบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้น: ทุกความผิดพลาดจะแปรเปลี่ยนเป็นพลังให้กับพวกเราได้ หากเราได้ถอดบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วความผิดพลาดที่เกิดโดยมนุษย์นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ และสักวันจะผ่านพ้นไป ดังนั้นทัศนคติที่ดีต่อความผิดพลาดจะช่วยทำให้ยอมรับในความผิดพลาดของตนเองได้ รวมถึงเพิ่มพลังและกำลังใจให้เราหลุดพ้นจากความรู้สึกที่วกวนได้
- เลือกเป้าหมายที่เป็นของเราจริง ๆ: สิ่งสำคัญคือการที่ไม่เปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นจนลืมว่าเป้าหมายที่แท้จริงของตนเองคืออะไร ทัศนคติที่ดีทำให้เราสามารถโฟกัสไปที่สิ่งที่เราต้องการ โดยไม่นำคำพูดชี้นำ หรือความรู้สึกที่ไม่ดีจากภายนอกมาทำให้เรารู้สึกว่าเป้าหมายของเราเป็นไปไม่ได้
- ขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ: อีกหนึ่งอย่างที่คนที่มีทัศนคติที่ดีทำคือการขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น บางทีคนเราอาจจะไม่อยากแสดงด้านที่อ่อนแอให้ใครเห็น แต่บางครั้งการยอมรับและขอความช่วยเหลือทำให้ปัญหาคลี่คลายได้ง่ายกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าเผชิญหน้ากับปัญหาเพียงลำพัง
ทัศนคติที่ดีช่วยส่งเสริมให้เกิด Teamwork หรือการทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากคนในทีมมีการปรับมุมมองต่อปัญหาและความท้าทาย โดยพิจารณาจากหลักเหตุและผล โฟกัสไปที่เป้าหมายของทีม หรือองค์กร ทำให้เวลาทำงานเป็นทีมจะสามารถทำงานจากการมองหาโอกาส และทางออกของปัญหา
นอกจากนั้นทัศนคติที่ดียังช่วยให้คนรับมือกับความผิดพลาดหรือความผิดหวังได้ดี เพราะเราจะสามารถกลับมาสู้ได้อีกครั้ง เพราะเรามองความผิดพลาดเป็นบทเรียนได้ และให้รางวัลตัวเองผ่านคำชมหรือความสำเร็จทั้งเล็กหรือใหญ่ตลอดการทำงาน ซึ่งการที่องค์กรจะสนับสนุนทัศนคติที่ดี หรือการทำงานเป็นทีม องค์กรอาจทำผ่านการทำ Team Building หรือ การส่งเสริมพฤติกรรมที่องค์กรต้องการผ่านการให้ Recognition หรือรางวัล เป็นต้น
ทั้งนี้คนเราสามารถฝึกทัศนคติของเราให้แข็งแกร่งขึ้น หรือดีขึ้นได้ โดยสามารถเริ่มได้จากเทคนิคทั้ง 9 อย่างนี้
ฝึกคิดเชิงบวก
การคิดเชิงบวกที่ดี คือการมองโลกด้วยความเป็นจริง แต่ให้สร้างความรู้สึกหรือปฏิสัมพันธ์ของเรากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเชิงบวก หรือในแง่ดีมากกว่า โดยปกติแล้วทางจิตวิทยาจะมี Framework ที่ชื่อว่า Frame of Reference หรือกรอบการมองของมนุษย์ หากเราเห็นน้ำครึ่งแก้ว เราอาจจะมองแก้วใบนั้นได้สองมุมมองคือ “แก้วใบนี้ยังขาดน้ำอีกตั้งครึ่งหนึ่ง” หรือ “Half-Empthy” กับมองได้อีกมุมคือ “แก้วใบนี้มีน้ำเต็มอยู่แล้วครึ่งนึง” หรือ “Half-Full” ซึ่งจะสะท้อนมุมมองว่าเรามองสิ่งรอบข้างเราว่าเป็นเชิงบวก (เติมเต็ม) หรือเชิงลบ (ขาดหาย)
หากเรามีมุมมองเชิงบวกเยอะ จะทำให้เรามีแนวโน้มที่จะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า เนื่องจากสมองรับรู้ถึงความเป็นไปได้ และความรู้สึกเชิงบวกว่าเป็นความรู้สึกที่เปิดกว้าง และไม่จำกัดความคิดนั่นเอง ดังนั้น เราอาจเริ่มฝึกจากการมองหาข้อดีของสถานการณ์ หรือสิ่งที่เราชอบกับเหตุการณ์ เป็นต้น
มองโลกด้วยความเป็นกลาง
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นย่อมมีเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบ หากเราสามารถพิจารณาเหตุการณ์หรือสถานการณ์บนหลักเหตุและผล รวมไปถึงลดอคติที่มีต่อสิ่งที่เราพบเจอ เราจะสามารถมีทัศนคติหรือมุมมองการมองโลกแบบที่ยอมรับความจริง และเป็นกลางกับเหตุการณ์มากขึ้น
พร้อมรับมือกับความผิดพลาด
เมื่อเกิดความผิดพลาด ให้พยายามควบคุมอารมณ์ และคิดค้นหาวิธีทางแก้ไขปัญหาก่อน หรือขอความช่วยเหลือ จากนั้นมาทบทวนความผิดพลาดให้เกิดเป็นบทเรียนหรือเครื่องเตือนใจ สิ่งสำคัญคือการเตรียมร้อมรับมือ และมีแผนสองเสมอ
รู้จักพักและปล่อยวาง
นอกจากจะวิ่งไปข้างหน้า และพยายามอย่างหนัก คนที่มีทัศนคติที่ดีย่อมต้องรู้จักการพักผ่อน และการปล่อยวางจากความเครียด ถึงจะสามารถจัดการอารมณ์ความเครียดได้ดี คนที่มีทัศนคติที่ดีจะเรียนรู้ว่าอะไรควบคุมได้หรือไม่ได้ และทำให้เขาปล่อยวางได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
มีสติอยู่เสมอ
การตระหนักรู้ว่าตนทำอะไร ส่งผลกับใคร ทำให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อการดำรงชีวิต เพราะทำให้มีสติ และรับรู้ถึงสถานการณ์ และควบคุมอารมณ์ได้ ทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน และการแก้ไขเฉพาะหน้าจึงต้องการให้เราฝึกสติอยู่เป็นประจำ โดยอาจโฟกัสกับช่วงเวลาของปัจจุบัน หรือ “Be Present” มากขึ้น พยายามไม่คิดถึงความผิดพลาดในอดีต หรือพะวงกับอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นมากเกินไป
เรียนรู้และปรับตัว
ทัศนคติที่ดี เกิดจากการเปิดใจที่จะเรียนรู้และปรับตัว ในหลาย ๆ ครั้งที่เราอาจจะเผชิญกับเรื่องที่ยาก สถานการณ์ใหม่ ๆ ที่ทำให้เราต้องผลักตัวเองออกจากจุดที่สบายใจ สบายกาย การที่เราฝึกให้ตนเองมองหา Learning จะช่วยให้เราปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ง่ายขึ้น และส่งเสริมทัศนคติของเราให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
มีความสม่ำเสมอ
การฝึกสิ่งเหล่านี้เป็นประจำเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นต้องฝึกทำให้สม่ำเสมอ เช่น ฝึกขอบคุณสิ่งดี ๆ ประจำ หรืออาจจะใช้ Framework ที่ชื่อว่า PERMA ช่วยในการปรับมุมมองของชีวิตได้ ซึ่งได้แก่
P - Positive Emotion: คือให้เราลองคิดเกี่ยวกับอารมณ์เชิงบวกที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
E - Engagement: เราทำกิจกรรมอะไรแล้วมีความสุข หรือรู้สึกยินดี ให้ลองนึกออกมา
R - Relationships: ทบทวนความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้าง เช่น ช่วงนี้ความสัมพันธ์กับที่บ้านเป็นไปด้วยดี เพราะได้ใช้เวลาร่วมกัน
M - Mearning: ให้ลองคิดถึงความหมาย หรือคุณค่าที่ทำให้เราอยากมีชีวิตอยู่ หรือดำรงชีวิตด้วยพลังที่เต็มเปี่ยม
A- Achievment: มีอะไรที่เราได้ทำสำเร็จ จะเป็นความสำเร็จใหญ่ หรือเล็กก็ได้
ทั้งหมดนี้ถ้ามีการสะท้อนตัวตนสม่ำเสมอจะทำให้เรามีทัศนคติเชิงบวก หรือทัศนคติที่ดีขึ้นได้นั้นเอง
ใส่ใจตนเอง
หันมาดูแลสุขภาพกายใจของตนเอง นอกจากการสะท้อนความรู้สึก และการยอมรับอารมณ์ของตัวเองในทุกรูปแบบ คือการเริ่มต้นที่พื้นฐานร่างกาย เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ดี ใส่ใจในตนเองมากขึ้น จะทำให้ตัวเรานั้นเริ่มมีทัศนคติที่ดีต่อตนเองมากขึ้นนั่นเอง
ให้ความสำคัญกับความบันเทิงและการผ่อนคลาย
การดูหนัง ฟังเพลง หรือทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย มีส่วนในการช่วยเราจัดการความเครียด หรืออารมณ์เชิงลบ ดังนั้นเราต้องหาช่วงเวลาสำหรับความบันเทิงหรือช่วงเวลาส่วนตัวด้วยเช่นกัน
ทัศนคติที่ดีคือ การรู้สึก นึกคิดอย่างมีเหตุและผล โดยทัศนคติที่ดีไม่ได้หมายถึงเพียงการมองโลกในแง่บวกเท่านั้น แต่หมายถึงการมองโลกตามความเป็นจริง โดยเข้าใจมุมมองของสถานการณ์ผ่านเหตุและผล ซึ่งสามารถช่วยให้ชีวิตประจำวันและการทำงานของเรามีความสุขมากขึ้น รวมไปถึงส่งเสริม Mindset เชิงบวกอื่น ๆ ตามมา สามารถพัฒนาทัศนคติเชิงบวกผ่านกระบวนการอบรมที่สนุก มีสาระ และเปลี่ยนมุมมองจากภายในไปกับ Disrupt Training Program